ในปัจจุบันประเทศไทยสูญเสียเงินตราจำนวนมากในการสั่งซื้อเคมีภัณฑ์ชนิดต่างๆ
จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดจุลินทรีย์ที่มีอันตรายต่อมนุษย์
พืช และสัตว์ ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในด้านสาธารณสุข การเกษตร อุตสาหกรรม
และเศรษฐกิจ ปาหมีหรือพาหมี (Linostoma pauciflorum Griff.) เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่พบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย
ชาวบ้านนิยมนำน้ำสกัดซึ่งได้จากลำต้นและรากไปใช้เบื่อปลา (Upho,
2005) และฉีดไล่เพลี้ยไฟมะม่วง หรือใช้ใบปาหมีเป็นส่วนผสมในการทำน้ำสมุนไพรหมักเพื่อใช้กำจัดแมลงในแปลงผัก
(http://www.komchadluek.net/news/2004/12-01/farm1-15585621.html)
เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาวิจัยศักยภาพและประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากปาหมีในการยับยั้งและ/หรือฆ่าทำลายจุลินทรีย์
จะทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของพืชสมุนไพรชนิดนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า
จากการสกัดสารออกฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์จากลำต้นแห้งของปาหมีพบว่ามีสารออกฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ในสารสกัดหยาบที่ได้จากการสกัดด้วย
ethanol (PE1) มีผลต่อ A. hydrophila มากที่สุด โดยสามารถฆ่าทำลายและยับยั้งการเจริญได้ที่ระดับความเข้มข้นสูงสุดที่ใช้ทดสอบ
คือ 2.5 มก./มล. แต่ไม่สามารถฆ่าทำลายยีสต์และราเส้นใยที่ใช้ทดสอบทุกสายพันธุ์
(ภาพที่ 1) และเมื่อนำสารสกัด PE1 ไปแยกสารในกลุ่มที่มีขั้วและไม่มีขั้วออกจากกันโดยการแลกเปลี่ยนระหว่างชั้นของสารละลาย
ethyl acetate และน้ำ ในอัตราส่วน 2:1 นำส่วนที่ได้จากการแยกไปทดสอบการออกฤทธิ์ของสารสกัดในกลุ่มที่ไม่มีขั้วที่ได้จากการแยกด้วย
ethyl acetate (PEA-EOH) ด้วยวิธี disc diffusion (NCCLS, 2003b)
พบว่า สารสกัด PEA-EOH ที่ปริมาณสูงสุด คือ 10 มก. ไม่สามารถยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ที่ใช้ทดสอบทุกสายพันธุ์ได้
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารสกัดในกลุ่มที่ไม่มีขั้วซึ่งละลายใน ethyl
acetate ไม่มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ เมื่อนำสารออกฤทธิ์ในกลุ่มที่มีขั้วซึ่งละลายในน้ำ
(PEA-H2O) มาทดสอบด้วยวิธี micro-dilution (NCCLS, 2002a; NCCLS,
2002b; NCCLS, 2003a) พบว่า สารสกัด PEA-H2O สามารถฆ่าทำลายและยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่ใช้ทดสอบได้ทุกสายพันธุ์ที่ระดับความเข้มข้น
90 มก./มล. นอกจากนี้ PEA-H2O ยังสามารถยับยั้งการเจริญของ C. albicans
และ F. oxysporum ได้ที่ระดับความเข้มข้น 180 มก./มล. แต่ไม่สามารถฆ่าทำลายเชื้อราได้
(ภาพที่ 2) แสดงว่าสารสกัดในกลุ่มที่มีขั้วซึ่งละลายในน้ำมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ต่อแบคทีเรียสูงกว่าเชื้อรา
จากผลการทดลองข้างต้นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของปาหมีในการต้านการเจริญของแบคทีเรียทั้งแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบที่อาจก่อให้เกิดโรคได้
คือ S. aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดฝีหนอง E. coli ซึ่งบางสายพันธุ์อาจก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ
และ A. hydrophila ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุโรคของปลา ดังนั้นจึงเห็นสมควรที่จะนำสารสกัดจากปาหมีไปศึกษาต่อเพื่อประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์และทางการเกษตรต่อไป
 |
|
 |
ภาพที่ 1 ประสิทธิภาพของสารสกัด PE1 ในการยับยั้งการเจริญ
(MIC, minimum inhibition concentration) และการฆ่าทำลาย (MBC,
minimum bactericidal/fungicidal concentration) ต่อจุลินทรีย์ทดสอบ |
|
ภาพที่ 2 ประสิทธิภาพของสารสกัด PEA-H2O ในการยับยั้งการเจริญ
(MIC, minimum inhibition concentration) และการฆ่าทำลาย (MBC,
minimum bactericidal/fungicidal concentration) ต่อจุลินทรีย์ทดสอบ |
|