หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชผักที่มีศักยภาพในการส่งออก และปัจจุบันก็ยังมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น แต่ในอดีตที่ผ่านมาการปลูกหน่อไม้ฝรั่งมีการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก ดังนั้นการให้ความรู้ในด้านการปลูกและดูแลรักษา ตลอดจนคัดเลือกต้นแม่พันธุ์หน่อไม้ฝรั่งที่ปลูกในแปลงเกษตรกร ค่อนข้างมีความทนทานโรค และสามารถให้ผลผลิตได้ตรงตามมาตรฐาน คือมีหน่อเกรด A มาก หน่อตรง และปลายยอดไม่บาน โดยนำหน่ออ่อนมาทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มปริมาณต้นกล้า โดยใช้เวลาประมาณ 1 ปีขึ้นไป จึงจะได้ต้นกล้าที่แข็งแรงสามารถปลูกลงแปลงได้ และให้ผลผลิตได้ตามมาตรฐานที่ต้องการ อีกทั้งยังทำให้ตันกล้าแข็งแรงลดปริมาณการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนสภาพการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่งจากแสงไฟนีออนเป็นแสงธรรมชาติ และเปลี่ยนจากการใช้ห้องปรับอากาศเป็นห้องอุณหภูมิปกติเพื่อการประหยัดพลังงาน
1. การคัดเลือกต้นหน่อไม้ฝรั่งเพื่อใช้เป็นแม่พันธุ์สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
1.1คัดเลือกต้นจากแปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่งที่มีอายุ 2-3 ปีขึ้นไป เพื่อจะได้ติดตามประวัติการให้ผลผลิตที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานการส่งออก
1.2 คัดเลือกต้นที่ทนทานต่อโรค ซึ่งในฤดูฝนเป็นช่วงที่หน่อไม้ฝรั่งมีโรคระบาดหลายชนิด ช่วงนี้เหมาะแก่การคัดเลือกต้นแม่พันธุ์ที่แข็งแรง นอกจากนี้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค เช่น ทิศทางลม สภาพความชื้น อายุและความแน่นของใบ หรือระยะปลูกต่างๆก็มีผลต่อความรุนแรงของโรคที่ไม่ควรมองข้าม
1.3 การเลือกต้นที่สามารถให้ผลผลิตหน่อตูมได้มากในฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูที่ผลผลิตหน่อไม้ฝรั่งจะบานค่อนข้างมากเนื่องจากอุณหภูมิสูง ให้คัดเลือกต้นที่หน่อมีขนาดยาวแต่ยังคงตูมอยู่ ส่วนลำต้นแม่ให้สังเกตกิ่งแขนงล่างสุดต้องสูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร (ให้ดูต้นเก่าก่อนพักต้น) ถ้าสามารถคัดเลือกต้นแบบนี้เป็นแม่พันธุ์ได้ก็จะมีโอกาสทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตหน่อตูมมากในฤดูร้อน
1.4 การคัดเลือกต้นเพศผู้หรือเพศเมียหรือต้นกระเทยขยายพันธุ์ สามารถจะทำได้หลังจากต้นออกดอกและติดเมล็ดแล้ว ก็คัดเลือกต้นตามที่ต้องการเพื่อมาทำการขยายพันธุ์
2. การศึกษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนสภาพการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่งจากแสงไฟนีออนเป็นแสงธรรมชาติ และเปลี่ยนจากการใช้ห้องปรับอากาศเป็นห้องอุณหภูมิปกติเพื่อการประหยัดพลังงาน
จากการทดลองพบว่าเมื่อมีการนำต้นหน่อไม้ฝรั่งที่อยู่ระหว่างการขยายกอไปเลี้ยงไว้ในห้องที่ใช้แสงธรรมชาติพบว่า ต้นที่ได้จากแสงฟลูออเรสเซนต์มีจำนวนกอ มากกว่าต้นที่เลี้ยงจากแสงธรรมชาติ ทั้งนี้เนื่องจากต้นที่อยู่ใช้แสงฟลูออเรสเซนต์จะมีกอที่แตกแขนงบนตาที่อยู่บนกิ่งมากกว่าที่ใช้แสงธรรมชาติ แต่เมื่อทดลองตัดต้นหน่อไม้ฝรั่งลงในอาหารสูตรออกราก พบว่า การใช้แสงธรรมชาติสามารถให้ต้นที่สมบูรณ์สามารถตัดลงอาหารสูตรออกรากได้มากกว่า เพราะต้นที่เลี้ยงอยู่ในห้องที่ใช้แสงธรรมชาติ จะมีลักษณะเขียวเข้มกว่า และมีเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นแคลลัสที่โคนกอมากกว่าต้นที่ใช้แสงฟลูออเรสเซนต์ ฉะนั้นจึงมีต้นที่นำมาชักนำให้ออกรากมาก
 |
 |
รูปที่ 1 ลักษณะของชั้นที่วางหน่อไม้ฝรั่ง ในห้องที่ใช้แสงธรรมชาติ อุณหภูมิปกติ (ซ้าย) และห้องที่ใช้แสงนีออน ห้องปรับอากาศ(ขวา) |
|