การพัฒนาสูตรอาหารชักนำการสร้างระบบต้นพืชแข็งแรงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการย้ายปลูกของกล้าอ้อยปลอดโรค
Media development for strengthening plantlets induction to increase the efficiency of transplantation system in disease-free sugarcane plants

  อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่ง สามารถทำรายได้ให้กับประเทศแต่ละปีมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมักประสบกับปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และการระบาดของโรคแมลงศัตรูในแปลงปลูกทำให้ผลผลิตตกต่ำ สาเหตุหนึ่งของการระบาดมาจากการใช้ท่อนพันธุ์ที่มีการสะสมโรคเมื่อนำท่อนพันธุ์มาปลูกในแปลงทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาคือการนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญมาใช้ในการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคเพื่อทดแทนท่อนพันธุ์เดิมที่มีโรคสะสมอยู่รวมทั้งสามารถช่วยตัดวงจรการเป็นโรคระบาดในแปลงได้ระยะหนึ่ง  งานวิจัยได้เห็นความสำคัญของการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคโดยต้องการส่งเสริมและขยายท่อนพันธุ์ปลอดโรคเหล่านี้ไปสู่เกษตรกร จึงมีแนวคิดในการนำต้นอ้อยปลอดโรคที่ได้จากงานวิจัยมาเป็นต้นแบบในการผลิตอ้อยปลอดโรคในห้องปฏิบัติการให้มีคุณภาพ มีความสม่ำเสมอ แข็งแรง และมีราคาถูก โดยการพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มปริมาณต้นพร้อมระบบรากที่สมบรูณ์รวมถึงเทคนิคการย้ายปลูกให้ได้ต้นกล้ารอดชีวิตสูง และประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายซึ่งจะใช้เป็นประโยชน์ในการผลิตอ้อยปลอดโรคในเชิงพาณิชย์ต่อไป

 งานวิจัยได้นำแคลลัสของอ้อยพันธุ์ K84-200, K97-27 และ K97-29 จากอาหารสูตร MS ที่เติม 2,4-D 1 มก./ล และน้ำมะพร้าว 10%(โดยปริมาตร) ที่ผ่านการตรวจสอบโรคใบขาวแล้ว มาชักนำให้เกิดต้นใน สูตรอาหาร MS ที่เติม NAA 0.5-1 มก./ล kinetin 1 มก./ล ร่วมกับ adenine sulfate 0.08 ก./ล และน้ำมะพร้าว 10% (โดยปริมาตร) สามารถชักนำให้แคลลัสเกิดเป็นกระจุกต้นได้มากที่สุด จากนั้นชักนำให้กระจุกต้นยืดในอาหารสูตร MS ที่เติม kinetin ความเข้มข้น 1 มก./ล. IBA 1 มก./ล. น้ำมะพร้าว 10% (โดยปริมาตร) และ adenine sulfate 0.08 ก./ล. ยอดที่แข็งแรงแล้วชักนำให้ออกรากในอาหารสูตร MS ที่เติม NAA ความเข้มข้นตั้งแต่ 1-10 มก./ล.พบว่า อาหารสูตรอาหารที่เติม NAA 5 มก./ล. จะชักนำให้ต้นกล้าออกรากได้ดีที่สุด มีเปอร์เซ็นต์การออกรากตั้งแต่ 97-100% ลักษณะของราก มีสีขาว เป็นกระจุกจำนวนมาก และสามารถย้ายปลูกในวัสดุปลูกและมีเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตประมาณ 92-100% แล้วแต่พันธุ์ จากการศึกษาการปรับสภาพต้นกล้าที่อยู่ในโรงเรือนก่อนการย้ายปลูกพบว่า ต้นกล้าที่มีการปรับสภาพก่อนย้ายปลูกมีขนาดของลำต้นใหญ่ ต้นแข็งแรง กว่าต้นที่ไม่ได้ปรับสภาพ และมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 100% ในวัสดุปลูกหลังจากย้ายปลูกประมาณ 1 เดือน

รูปที่ 1 การพัฒนาเกิดเป็นต้นจากแคลลัสของอ้อยพันธุ์ K97-27 ในอาหารสูตร MS ที่เติม 2,4-D 1 มก./ล.หรือ kinetin 1-5 มก./ล.
ร่วมด้วยน้ำมะพร้าว 10% (โดยปริมาตร) และ adenine sulfate 0.08 ก./ล เป็นเวลา 1 เดือน

รูปที่2 ต้นกล้าอ้อยพันธุ์  K84-200, K97-27 และ K97-29 จากอาหารสูตรออกราก
หลังจากย้ายปลูกในวัสดุปลูกเป็นเวลา 1 เดือน

รูปที่ 3 เปรียบเทียบต้นกล้าที่มีการปรับสภาพและไม่มีการปรับสภาพ
ในวัสดุปลูก vermiculite:ขุยมะพร้าว:ขี้เถ้าแกลบ:ทราย (1:1:1:1) หลังจากย้ายปลูกเป็นเวลา 2 สัปดาห์

 
คณะผู้วิจัย:
รงรอง หอมหวล1 ศิริวรรณ บุรีคำ2 มณฑา วงศ์มณีโรจน์1 สุภาพร กลิ่นคง3 เรวัติ เลิศฤทัยโยธิน4
1ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน นครปฐม
2ฝ่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลาง บางเขน สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมก. กรุงเทพ
3ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กำแพงแสน นครปฐม
4ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กำแพงแสน นครปฐม
โทรศัพท์ 034351399 ต่อ 485