การผลิตต้นพันธุ์กล้วยไม้สกุลหวายบางชนิดให้ปลอดโรคใบด่างซึ่งเกิดจากเชื้อ cymbidium mosaic virus (CyMV) โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการพัฒนาเทคนิคการตรวจโรคด้วยวิธีทางเซรุ่มวิทยา
Production of Cymbidium Mosaic Virus (CyMV) Free Dendrobium Orchids through Tissue Culture and Development of Virus Detection using Serological Technique

                ต้นกล้วยไม้ที่เป็นโรคใบด่างซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิด cymbidium mosaic virus (CyMV) โดยทั่วไปมักพบใบแสดงอาการด่าง มีแผลไหม้ อาการจุดช้ำน้ำ หรือจุดด่างเป็นสีเหลือง ยอดบิด ลำต้นแคระแกร็น ให้ดอกเล็ก ลักษณะดอกไม่สมบูรณ์ กลีบดอกบิด ดอกมีสีซีด หรือดอกด่าง ช่อดอกสั้น คุณภาพของดอกต่ำไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มูลค่าของผลผลิตลดลง ทำให้เป็นอุปสรรคกับวงการไม้ตัดดอกส่งต่างประเทศ เชื้อไวรัส CyMV นี้สามารถถ่ายทอดได้โดยติดไปกับหน่อหรือต้นพันธุ์ที่เป็นโรค และอุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดแต่ง จากการที่ลักษณะของต้นกล้วยไม้เป็นโรคดูไม่แตกต่างจากต้นปกติ จึงทำให้ไม่สามารถแยกต้นเป็นโรคออกจากต้นปกติได้อย่างชัดเจน ดังนั้นถ้านำต้นกล้วยไม้ที่เป็นโรคไวรัสมาใช้ในการขยายพันธุ์ ต้นกล้วยไม้ที่ได้มีเชื้อไวรัสติดไป ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค และเนื่องจากเชื้อ CyMV สามารถเข้าทำลายกล้วยไม้ได้หลายชนิด จึงก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางโดยไม่สามารถแก้ไขได้  ดังที่มีรายงานว่าต้นกล้วยไม้สกุลหวายที่ปลูกเป็นการค้าในประเทศสิงคโปร์มากกว่า 80 % พบมีเชื้อ CyMV อยู่เกือบทั้งหมด

                สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันนี้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้เป็นการค้านิยมขยายพันธุ์ต้นกล้วยไม้โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ดังนั้นถ้าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ CyMV ไม่ให้แพร่ขยายไปกับต้นพันธุ์ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการควบคุม และกำจัดโรคใบด่างในสวนกล้วยไม้ได้ คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการผลิตต้นพันธุ์กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium spp.) ให้ปลอดจากเชื้อไวรัส CyMV โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญ รวมทั้งการพัฒนาเทคนิคในการตรวจสอบเชื้อไวรัสที่มีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย จากผลการทดลองนำเนื้อเยื่อเจริญที่มีขนาดประมาณ 0.2-0.3 มม. จากส่วนปลายยอดของหน่ออ่อนจากต้นกล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์โซเนีย (บอม 17) มาเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ (ภาพที่1) พบว่าสูตรอาหารที่เหมาะสมในการชักนำให้เนื้อเยื่อเจริญของกล้วยไม้สามารถพัฒนาเป็นโปรโตคอร์มได้ดีนั้นได้แก่อาหารสูตร VW (Vacin &Went, 1949) และสูตร VW ที่เติม NAA ความเข้มข้น 0.1-1.0 มก.ต่อลิตร โดยเนื้อเยื่อเจริญจะเริ่มมีการพัฒนาเป็นโปรโตคอร์มขนาดประมาณ 0.3-0.8 ซม. (ภาพที่2) ได้ภายใน 6 สัปดาห์ ในอัตราร้อยละ 20 ของเนื้อเยื่อทั้งหมด และสามารถพัฒนาเป็นต้นต่อไปได้ภายในเวลา 3 เดือน ซึ่งเมื่อนำตัวอย่างของเนื้อเยื่อที่เจริญมาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญเหล่านี้มาทำการตรวจเชื้อไวรัสด้วยวิธี indirect ELISA (enzyme-linked immunosorbent assay) โดยใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ผลิตได้ซึ่งพบว่าโมโนโคลนที่ผลิตได้จากทั้ง 2 โคลน สามารถทำปฏิกิริยาได้อย่างดีกับเชื้อไวรัส CyMV บริสุทธิ์ และ CyMV-CP และกับน้ำคั้นจากใบกล้วยไม้หวายที่เป็นโรค โดยไม่ทำปฏิกิริยาข้ามกับเชื้อไวรัส ORSV-CP และพืชปกติ นอกจากนี้โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ผลิตได้ยังมีประสิทธิภาพในการตรวจเชื้อไวรัสได้ดีกว่าโพลีโคลนอลแอนติบอดีอีกด้วย และสามารถตรวจคัดเลือกต้นพันธุ์กล้วยไม้ที่ปลอดเชื้อได้ในอัตราร้อยละ 19.4 ของจำนวนเนื้อเยื่อเจริญที่นำมาเพาะเลี้ยงทั้งหมด ซึ่งเมื่อนำมาเพิ่มปริมาณและชักนำให้เกิดต้นก็สามารถผลิตต้นพันธุ์กล้วยไม้ที่ไม่มีเชื้อไวรัสได้เป็นจำนวนมากภายในเวลา 1 ปี

(1a)
(1b)

ภาพที่ 1  (1a) shoot tip และ leaf primordia ของเนื้อเยื่อที่ปลายยอดหน่ออ่อนกล้วยไม้สกุลหวาย สายพันธุ์บอม17
(1b) เนื้อเยื่อเจริญ (meristem) ที่ปลายยอดของ shoot tip

ภาพที่2  ต้นพันธุ์กล้วยไม้ปลอดโรคที่พร้อมออกปลูกในสภาพธรรมชาติ

 
คณะผู้วิจัย:
ศิริวรรณ บุรีคำ1 รัชนี ฮงประยูร2 รงรอง หอมหวล3 มณฑา วงศ์มณีโรจน์3 สุวรรณา กลัดพันธุ์1 และจิตราพรรณ พิลึก4
1ฝ่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลาง บางเขน สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. จตุจักร กรุงเทพฯ 
2ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน นครปฐม
3ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน นครปฐม
4ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ
โทร. 029428740 ต่อ 401