โครงการจัดทำแนวทางการวางผังและการออกแบบเพื่อการฟื้นฟูเขตเพลิงไหม้
ตลาดศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
Design Guidelines for Reconstructing Fired Areas of San Chao Rhong Thong Historic Market,
Visedchaicharn District, Angthong Province

          ชุมชนตลาดศาลเจ้าโรงทองนับเป็นชุมชนที่มีบทบาทความสำคัญบนลุ่มแม่น้ำน้อยในจังหวัดอ่างทอง และมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งที่ยาวนานมากกว่าทศวรรษ ตลาดเก่าแห่งนี้สะท้อนให้เห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมแบบเรือนแถวไม้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในประเทศไทย นอกจากรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมมีความโดดเด่นแล้วกิจกรรมการทำการค้าที่ผูกพันกับแม่น้ำน้อยและความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเสมือนหนึ่งเครือญาติทำให้ตลาดศาลเจ้าโรงทองเป็นชุมชนที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว และเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโต และมีการซื้อขายครึกครื้นมากที่สุดในละแวกจังหวัดอ่างทอง ชุมชนลักษณะนี้มีจำนวนหลงเหลืออยู่ไม่มากนักท่ามกลางกระแสของการพัฒนาประเทศ แม้ว่าการพัฒนาของระบบถนนโดยรอบบริเวณตลาดศาลเจ้าโรงทองแห่งนี้มีผลทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพไปบางส่วน และเกิดการจางหายของความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของชาวบ้านกับแม่น้ำน้อย แต่ชุมชนยังคงธำรงรักษาภาพลักษณ์โดยรวม การดำเนินวิถีชีวิตและการรักษาความเป็นสังคมเครือญาติไว้ได้อย่างมั่นคง
         ชุมชนตลาดศาลเจ้าโรงทองนี้นับได้ว่าเป็นชุมชนที่มีคุณค่าและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งในแถบภาคกลางของประเทศ เหตุการณ์เพลิงไหม้อย่างฉับพลันในบริเวณพื้นที่ชุมชนของเช้าตรู่วันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2548 ทำให้เรือนแถวไม้เก่าที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมจำนวนประมาณมากกว่า 180 หลังคาเรือน พื้นที่โดยประมาณ 7 ไร่ได้ถูกเพลิงเผาผลาญไป การสูญเสียบ้านเรือนของชุมชนในเหตุการณ์ครั้งนี้มิได้มีผลต่อผู้ประสบภัยเท่านั้น หากแต่นับได้ว่าเป็นการสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของสังคมไทยอีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูชุมชนอย่างเหมาะสม จังหวัดอ่างทองจึงได้มอบหมายคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ดำเนินการกำหนดแนวทางการวางผังและการออกแบบเพื่อฟื้นฟูพื้นที่เขตเพลิงไหม้นี้ โดยเอื้อให้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้กลับมามีสภาพดังในอดีตให้มากที่สุด

ลักษณะชุมชนตลาดศาลเจ้าโรงทองในอดีต
ชุมชนตลาดศาลเจ้าโรงทองขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ (6 ธันวาคม 2548) และหลังเพลิงผลาญ (7 ธันวาคม 2548)

                 เป้าหมายสำคัญของการฟื้นคืนชุมชนให้ใกล้เคียงภาพลักษณ์ในอดีต คือ การธำรงไว้ซึ่งการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน อย่างไรก็ตามเนื่องจากการตั้งถิ่นฐานของชุมชนนี้เกิดขึ้นมามากกว่าศตวรรษ มีการเติบโตแบบอิสระ มีการแบ่งแปลงที่ดินเป็นขนาดเล็ก และเป็นชุมชนเดินเท้า ทางสาธารณะซึ่งมิได้มีไว้เพื่อรองรับยานพาหนะ ความจำกัดทางเงื่อนไขของพื้นที่เหล่านี้ไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับทางกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมอาคารที่มีประกาศใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน การวางผังและออกแบบเพื่อการฟื้นฟูเขตเพลิงไหม้โดยยึดข้อบัญญัติดังกล่าวเป็นหลักเพียงประการเดียวจะไม่สามารถทำให้เกิดการปลูกสร้างอาคารพักอาศัยในพื้นที่ลักษณะเดิมได้ ผู้ประสบภัยบางส่วนจะต้องโยกย้ายถิ่นฐานออกจากชุมชน สำหรับครัวเรือนที่เหลืออยู่ แม้ขนาดที่ดินมีความเป็นไปได้ที่จะทำการปลูกสร้างอาคาร แต่ก็จะต้องถูกลดทอนหรือร่นระยะอาคารเพื่อการออกแบบตามข้อบัญญัติและกฎกระทรวง พื้นที่ที่หลงเหลืออยู่สำหรับการก่อสร้างอาคารก็ไม่เพียงพอที่จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย การดำเนินงานตามข้อบัญญัติทางกฎหมายในปัจจุบันจึงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในอันที่จะฟื้นคืนสภาพเดิมให้แก่ชุมชน และยังอาจก่อให้เกิดปัญหาในด้านอื่นๆตามมา เช่น ความขัดแย้งในการจัดรูปที่ดิน กรรมสิทธิ์ การสูญเสียสมาชิกและวิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งไม่อาจประมาณเป็นมูลค่าได้ เป็นต้น
             แนวคิดการฟื้นฟูเขตเพลิงไหม้ ตลาดศาลเจ้าโรงทองในเชิงอนุรักษ์บนพื้นฐานอัตลักษณ์และจิตวิญญาณเดิมของชุมชนเป็นทางเลือกร่วมกันของประชาชนผู้ประสบภัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึงกระนั้นการดำเนินงานภายใต้แนวคิดนี้ทำให้จำเป็นต้องมีการจัดทำเทศบัญญัติเฉพาะท้องถิ่นที่เป็นข้อขัดแย้งกับกฎกระทรวงขึ้น โดยที่ยังต้องรักษาสาระสำคัญต่อประสิทธิภาพในด้านการควบคุม 8 ประการ คือ ความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร
            เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการฟื้นฟูชุมชนตลาดศาลเจ้าโรงทอง โครงการนี้จึงมีจุดประสงค์ในการจัดทำแนวทางในการวางผังและออกแบบอาคารและการจัดทำร่างเทศบัญญัติเทศบาลตำบลศาลเจ้าโรงทอง โดยมุ่งเน้นที่จะให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน การดำเนินการของโครงการฯต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ องค์กรอิสระและโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ เพื่อทำให้การฟื้นคืนชีวิตให้แก่ชุมชนตลาดศาลเจ้าโรงทองเกิดความสอดคล้องกับวัฒนธรรมการอยู่อาศัยและความเชื่อของชุมชนอย่างแท้จริง รวมทั้งให้ทำการอนุรักษ์อาคารชุมชนศาลเจ้าโรงทองอายุกว่าร้อยปีที่ไม่ถูกเพลิงไหม้ให้อยู่กับอาคารที่ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ได้อย่างเหมาะสมและสามารถส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้
           ภายใต้เงื่อนไขเวลาอันจำกัด (มกราคม-ตุลาคม 2549) การดำเนินงานเริ่มจากการสำรวจศักยภาพอาคารที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่และสภาพพื้นที่ชุมชน และการค้นหาลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมของชุมชน โดยมีศึกษาทั้งจากอาคารที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ ตลาดอื่นๆที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมใกล้เคียง การสัมภาษณ์ชาวบ้าน การจัดทำแบบสอบถามและการค้นคว้าด้านงานเอกสาร และหลักฐานรูปถ่ายต่างๆ ข้อมูลที่ได้รับถูกนำมาประมวลและวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นแนวคิดในการวางผังและออกแบบฟื้นฟูชุมชน โดยคำนึงถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่ และการมีประสิทธิภาพในด้านการควบคุมที่สำคัญต่างๆตามข้อบังคับของกฎหมาย แนวทางการวางผังและออกแบบฟื้นฟูเขตเพลิงไหม้ ตลาดศาลเจ้าโรงทองนี้ ประกอบด้วยงาน 5 ส่วน คือ การวางผังภาพรวมเพื่อการฟื้นฟูเขตเพลิงไหม้ในเชิงการอนุรักษ์ การวางผังชุมชน การออกแบบอาคารภายในชุมชน การออกแบบและการปรับปรุงภูมิทัศน์ และการกำหนดมาตรการด้านโครงสร้างพื้นฐาน การดำเนินงานของโครงการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อให้เกิดแนวทางการวางผังและการออกแบบที่เหมาะสม
          
กิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูชุมชน

          นอกจากการจัดทำแนวทางการวางผังและการออกแบบฟื้นฟูชุมชนแล้ว ข้อมูลจากการศึกษา แนวทางการวางผังและการออกแบบที่เกิดขึ้นถูกแจกแจงเป็นข้อขัดแย้งกับกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมอาคารในส่วนต่างๆ และได้ถูกตีความเพื่อร่างเป็นเทศบัญญัติเทศบาลตำบลศาลเจ้าโรงทอง ภายใต้คำแนะนำและความช่วยเหลือจากกลุ่มงานอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง จากการสนับสนุนและผลักดันอย่างต่อเนื่องของผู้ว่าราชการจังหวัด นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ทำให้เกิดการประสานความร่วมมืออย่างเต็มรูปแบบของเจ้าหน้าที่จังหวัดผู้เกี่ยวข้อง ประชาชนผู้ประสบภัย และองค์กรอื่นๆ และทำให้แนวคิดในการฟื้นฟูพื้นที่เพลิงไหม้ตลาดศาลเจ้าโรงทองบนพื้นฐานการอนุรักษ์มีความเป็นจริงได้ ในปัจจุบันการฟื้นคืนชีวิตให้แก่ชุมชนตลาดศาลเจ้าโรงทองสามารถดำเนินการภายใต้เทศบัญญัติเฉพาะท้องถิ่น 2 ฉบับ คือ “เทศบัญญัติเทศบาลตำบลศาลเจ้าโรงทอง เรื่องกำหนดบริเวณควบคุมอาคารในพื้นที่เทศบาลตำบลศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง” และ “เทศบัญญัติเทศบาลตำบลศาลเจ้าโรงทอง เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในเขตเทศบาลตำบลศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง” ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ภาพแสดงแนวคิดต่อบรรยากาศหลังการฟื้นฟูชุมชนตลาดศาลเจ้าโรงทอง (ลายเส้น โดย ศาสตราจารย์ อรศิริ ปาณินท์)

             โครงการนี้นอกจะทำให้เกิดการทำงานที่ประสานความร่วมมือจากประชาชนและหลายองค์กรอย่างจริงจังแล้ว ยังทำให้เห็นพลังจินตภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนที่สืบสานความสำคัญทางทางวัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากนี้แนวทางการดำเนินการฟื้นฟูเขตเพลิงไหม้ ตลาดศาลเจ้าโรงทองแหล่งนี้ ยังสามารถเป็นบทเรียนต่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชนที่มีสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ในท้องที่ต่างๆต่อไป

 
คณะผู้วิจัย:
คณะที่ปรึกษาโครงการ
1. ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง
2. ผู้อำนวยการกลุ่มงานอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง
3. ผู้แทนจากสำนักงานควบคุมระบบ กรมโยธาธิการและผังเมือง
4. ผู้แทนจาก ICOMOS THAILAND
5. ศาสตราจารย์ อรศิริ ปาณินท์
6. รองศาสตราจารย์ ประสงค์ เอี่ยมอนันต์
7. รองศาสตราจารย์ ดร.เอกรินทร์ อนุกูลยุทธธน
8. รองศาสตราจารย์ ยุพยง เหมะศิลปิน
9. รองศาสตราจารย์ ดร. พงษ์ศักดิ์ สุริยวนากุล
10. รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ระตะนะอาพร
12. ดร.วรรณดี สุทธินรากร
13. ผู้แทนชุมชนตลาดศาลเจ้าโรงทอง
คณะทำงาน
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันดี พินิจวรสิน
2. อาจารย์ กัญญาภา อร่ามรักษ์
3. อาจารย์ เพกา เสนาะเมือง
4. อาจารย์ ดร.ภัทรนันท์ ทักขนนท์
5. อาจารย์ สภาวิทย์ ด่านธำรงกุล
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ม.ล.วุฒิพงษ์ ทวีวงศ์
7. อาจารย์ อรเอม ตั้งกิจงามวงศ์
หน่วยงาน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
โทร. 02 942-8960-3