โครงการพัฒนาและสาธิตระบบผลิตพลังงานจากชีวมวลระดับชุมชน
THE DEVELOPMENT AND DEMONSTRATION OF BIOMASS GASIFICATION
FOR COMMUNITY PROJECT

          ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมจึงมีเศษวัสดุเหลือใช้ชีวมวลเกิดขึ้น หลังจากการเก็บเกี่ยวเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงแกลบหรือเศษวัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยวเพื่อผลิตไฟฟ้าโดยอาศัยหลักการเผาไหม้ในที่จำกัดปริมาณอากาศ ทำให้เกิดการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ หรือที่เรียกว่ากระบวนการผลิตก๊าซ Gasification ก๊าซที่ได้จากกระบวนการเรียกว่า Producer Gas ดังนั้นวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อศึกษาการผลิตพลังงานชีวมวลจากแกลบ หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่น สาธิตระบบผลิตพลังงานชีวมวลแก่ชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการใช้พลังงานชีวมวลทดแทน สนับสนุนการใช้งานอย่างยั่งยืนและเทคโนโลยีทางเลือกในท้องถิ่น โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากชุมชมชน หน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น การสร้าง ติดตั้ง และทดสอบระบบผลิตพลังงานจากชีวมวล ได้ดำเนินการ ณ โรงสีและตลาดกลางข้าวเปลือก สหกรณ์การเกษตรลำลูกกาจำกัด อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ดังรูปที่ 1

 

 

ผลการทดสอบระบบผลิตพลังงานจากชีวมวล
        จากปริมาณก๊าซที่อัตราการไหล 240 m3/hr ค่าความร้อนเฉลี่ย 4,500 kJ/m3 และมีอัตราการใช้แกลบอยู่ที่ 85 kg/hr ประสิทธิภาพโดยรวมของระบบผลิตก๊าซได้ประมาณ 92%
รายละเอียดการลงทุนสำหรับระบบผลิตพลังงานจากชีวมวลขนาด 80 kW

        ระบบผลิตพลังงาน ประมาณ 3,900,000 บาท
ค่าดำเนินงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ประมาณ 1.79 บาท/หน่วย
(ค่าแกลบ 0.60 บาท/กิโลกรัม, ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร 0.13 บาท/หน่วย, ค่าน้ำมันดีเซล 0.7 บาท/หน่วย และอื่น ๆ 0.21 บาท/หน่วย)
ถ้าผลิตกระแสไฟฟ้า 460,800 หน่วย/ปี ซึ่งสามารถทดแทนการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าในราคา 3 บาท/หน่วย กำไรหลังหักค่าดำเนินงาน คิดเป็นเงิน 557,143 บาท/ปี ระยะเวลาคืนทุน 7 ปี

ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฯ
1. สามารถลดอัตราการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตกระแสไฟฟ้า
2. ได้พลังงานไฟฟ้าที่สามารถนำไปใช้ในชุมชน เช่น โรงสีข้าว ซึ่งทำให้ชุมชนมีศักยภาพ
ในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
3. เป็นการใช้ทรัพยากรที่เหลือจากชุมชนได้อย่างคุ้มค่า
4. ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
5. ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของสมาชิกชุมชน ตามรอยพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

คณะผู้วิจัย:
รศ.เกียรติไกร อายุวัฒน์ และคณะ
ศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม บางเขน
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-942-8410 ต่อ 105