การเพิ่มประสิทธิภาพการชักนำรากหนอนตายหยาก(Stemona colinsae Craib.) ในสภาพปลอดเชื้อและการนำต้นออกปลูก
The Enhancement of  Root  Induction  of  Stemona colinsae Craib. in vitro and Transplanting

ได้รับรางวัล ผลงานวิชาการดีเด่น(การนำเสนอผลงานด้านโปสเตอร์) ประจำปี พ.ศ. 2550
จากการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย  การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกแห่งชาติครั้งที่ 4  งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 4    ของกระทรวงสาธารณสุข

หลักการเหตุผล
               หนอนตายหยากเป็นพืชวงศ์ Stemonaceae เป็นไม้เลื้อยมีรากใต้ดินจำนวนมาก เมื่อถึงฤดูแล้งต้นจะโทรมลงครั้นถึงฤดูฝนก็จะเจริญเติบโตและแทงหน่อขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง ชาวบ้านรู้จักนำมาใช้ประโยชน์นานแล้ว เช่น การฆ่าเห็บเหาในสัตว์ประเภทโคและกระบือ บางชนิดใช้ฆ่าหนอน หรือใส่ในไหปลาร้าเพื่อป้องกันหนอนแมลงวันและแมลงศัตรูพืช  สำหรับหนอนตายหยาก(Stemona colinsae Craib.) ในขั้นตอนของการขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสามารถทำได้ดี แต่ในขั้นตอนของการชักนำให้ออกรากทำได้ค่อนข้างยากและอัตราการรอดชีวิตหลังการย้ายปลูกมีน้อย ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการชักนำรากและทำให้อัตราการรอดชีวิตหลังการย้ายปลูกเพิ่มมากขึ้น

วิธีดำเนินการ
1.การเพิ่มประสิทธิภาพการชักนำรากหนอนตายหยากในสภาพปลอดเชื้อ
               นำต้นหนอนตายหยากที่เพิ่มปริมาณบนอาหารสูตร Murashige and Skoog (MS) ใส่ benzyladenine (BA)  2 มก./ล  ตัดต้นที่มีขนาด 2-3 ซม. มาวางบนอาหารสูตรทดลองเพิ่มปริมาณโปแตสเซียมไนเตรท (KNO3) ลดปริมาณแอมโมเนียมไนเตรท (NH4NO3) ในสูตรอาหารพื้นฐาน MS โดยลด NH4NO3 ให้เหลือเพียง 412.5 มก./ล เพิ่ม KNO3 เป็น 2375 , 2850 มก./ล เติมน้ำตาล 30 , 60 กรัม/ล  และ 4-(indole-3-yl) butyric acid (IBA) 1 , 2 มก./ล. เปรียบเทียบกับสูตรควบคุม อีก 2 สูตร รวมทั้งหมด 10 สูตร บันทึกการเจริญเติบโต
2.การปรับสภาพและศึกษาการเจริญเติบโตของต้นหนอนตายหยากจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหลังการย้ายปลูก
               นำต้นกล้าหนอนตายหยากที่ถูกชักนำให้ออกราก ไปตั้งไว้ในโรงเรือน 5-7 วัน เพื่อทำการปรับสภาพและย้ายปลูกลงวัสดุปลูกที่มีทราย : ขุยมะพร้าว อัตราส่วน 4:3 นำต้นกล้าเก็บไว้ในกระโจมที่ให้น้ำบนหลังคาเพื่อรักษาความชื้น 70-80% ประมาณ 1 สัปดาห์ 

ผลการศึกษา
1. การเพิ่มประสิทธิภาพการชักนำรากหนอนตายหยากในสภาพปลอดเชื้อ
               พบว่าการลด NH4NO3 ให้เหลือเพียง  412.5  มก./ล  เพิ่ม KNO3 เป็น 2375 มก./ล  เพิ่มน้ำตาล 60 กรัม/ล  และเติม IBA 1 มก./ล ในสูตรอาหารพื้นฐาน MS สามารถชักนำหนอนตายหยาก ให้ออกรากได้ 100 %
2.การปรับสภาพและศึกษาการเจริญเติบโตของต้นหนอนตายหยากจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหลังการย้ายปลูก
               พบว่าการย้ายปลูกช่วงฤดูหนาวต้นกล้าที่เก็บไว้ในกระโจมเพื่อรักษาความชื้น สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ แต่ไม่มีการแตกหน่อใหม่เพิ่มเติมหรือแม้แต่ยอดเก่าที่มีอยู่แล้วตายอดก็ไม่ยืดยาวออกมา ส่วนสีของใบยังเขียว เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 28-30°ซ จึงเริ่มมีการเจริญเติบโตตามปกติ สำหรับการย้ายปลูกในฤดูอื่นต้นกล้าสามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ หลังการย้ายปลูก 2-3 เดือน ต้นกล้ามีหน่ออ่อนเกิดขึ้นใหม่ ใบมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม  ส่วนที่บริเวณเหง้ามีรากเพิ่มขึ้นและเริ่มมีการสร้างรากสะสมอาหารได้

สรุป
               การชักนำรากหนอนตายหยาก(Stemona colinsae Craib.)ในสภาพปลอดเชื้อและทำให้มีอัตราการรอดชีวิตหลังการย้ายปลูกสูง สามารถทำได้โดยการใช้กลไกการลดไนโตรเจน เพิ่มโพแทสเซียมและน้ำตาล เติม IBAในสูตรอาหารพื้นฐาน MS  ควบคู่กับการใช้วิธีการปรับสภาพและวัสดุปลูกที่เหมาะสม

ดอกหนอนตายหยาก(Stemona colinsae Craib.)
ลักษณะต้นกล้าและรากหนอนตายหยาก
ในอาหารสูตร M๑-M๘ จากซ้ายไปขวา
ต้นกล้าที่ย้ายออกมาปลูกในโรงเรือน
นาน  ๓-๔ เดือน

 

 
คณะผู้วิจัย :
มณฑา วงศ์มณีโรจน์1   รงรอง  หอมหวล  ศิริวรรณ บุรีคำ2  และ สุรัตน์วดี  จิวะจินดา1
1ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง  สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
วิทยาเขตกำแพงแสน  จ.นครปฐม
2ฝ่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลาง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน กรุงเทพฯ
โทร 034-351399