สะพานไม้ทรงโรงเครื่องสับวัดส้มเกลี้ยง
Thai tradition structure bridge of Wat Somkliang
รางวัลที่ได้รับ รางวัลชนะเลิศ โครงการจัดทำทะเบียนอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ Online
พื้นที่สาธารณะเพื่อร่วมกันดูแลมรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2550
จาก สมาคมสถาปนิกสยาม

          วัดส้มเกลี้ยงในปัจจุบันมีบันทึกว่าเคยเป็นวัดเก่าแก่ เดิมชื่อวัดสังฆเดช โดยมี วิหารเก่าหลังหนึ่งอยู่ร่วมสมัยกับสะพานแห่งนี้เป็นความเป็นประวัติศาสตร์ของ ระบบผังบริเวณ กล่าวคือทิศทางการเข้าถึงapproachดั้งเดิมนั้นเริ่มจากชุมชน และ คลองขื่อขวาง ซึ่งเชื่อมคลองบางใหญ่ที่วัดท่าบันเทิงธรรมกับคลองมหาสวัสดิ์ แถววัดศรีเรืองบุญ ซึ่งตรงข้ามกับทิศทางเข้าถึงในปัจจุบัน

          สะพานนี้เป็นประจักษ์พยาน ถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองของ ชุมชนเรือกสวน ที่มีอายุการตั้งถิ่นฐานกว่า 450 ปี ของแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่เรียกว่า คลองบางกอกน้อย คลองแม่น้ำอ้อมนนท์ ในปัจจุบัน

           ในฐานะของ ภูมิทัศน์วัฒนธรรมและวิถีชนภาคกลาง มันแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคำปริศนาสามคำที่ทำให้เราเข้าใจตัวตนของเราเอง คือ ชุมชน วัด และ คลอง

          ในฐานะ สถาปัตยกรรม มันแสดงถึงระบบโครงสร้างแบบเครื่องสับที่ชัดเจน เป็นตัวแทนให้กับตัวเอง และเป็นครูให้นักเรียนสถาปนิกตราบเท่าที่เราอนุญาตให้มันคงอยู่

ในฐานะของการเชื่อมต่อและเปลี่ยนผ่าน มันเป็นที่พบกันระหว่าง

แผ่นดิน
กับ
แผ่นดิน
ท้องฟ้า
กับ
ท้องน้ำ
แสงแดด
กับ
ระลอกคลื่น
สถาบันศาสนา
กับ
สถาบันสรรพชีวิต
อดีต กับ
กับ
ปัจจุบัน
โลกนี้ กับ
กับ
โลกหน้า
กุศลเจตนา
กับ
ฝีมือช่างชั้นเลิศ
ความรู้
กับ
ความดี
ความจริง
กับ
ความงาม
และ
บทกวี
กับ
ที่ว่าง


หากเราอนุญาตตัวเองให้ มีเวลา พอที่จะสงบเงียบ และรับ ฟัง

แนวทาง
1. เป็นการริเริ่มของสังคมไทย ชุมชน วัด และส่วนราชการที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกัน

             สร้างวาทะกรรมจากสังคมโดยรวมย้อนกลับมาเกิดผลลัพธ์ในชุมชนเมื่อวาทะกรรมมันเข้มข้น ให้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมโดยทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เช่น

             ชุมชนมีความนับถือตัวเองและรายได้จากการเป็นพื้นที่การเรียนรู้

              การประปามหาสวัสดิ์เป็นตัวอย่างของหน่วยงานรัฐที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางจารีตการเมืองอย่างลึกซึ้ง ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นองค์กรชั้นนำ

             วัดส้มเกลี้ยงจะกลายเป็นวัดตัวอย่างของการพัฒนาแบบหลังวัดพัฒนาตัวอย่างกล่าวคือภายใต้วาทะกรรมชุดวัดพัฒนาตัวอย่างได้ทำลายสมดุลของความดี ความงาม และความรู้ซึ่งสถาปนาร่วมระหว่างชุมชน วัด และระบบนิเวศ การรื้อฟื้นมรดกที่เหลืออยู่ในส่วนน้อยให้เกิดพลังทางสังคมแบบใหม่ จะทำให้วัดส้มเกลี้ยงกลายเป็นสถาบันชั้นนำ

2. การวางผังและการเข้าถึง บริบทของการเข้าถึงแบบดั้งเดิมคือเนื้อหาของรูปแบบสะพาน ซึ่งตรงข้ามกับสภาพที่เป็นอยู่

           กล่าวคือ การเข้าถึงใหม่จากสาธารระชนผ่านถนน 340 บริเวณแยกคลองขื่อขวาง ถนนเรียบด้านข้างของโครงการประปามหาสวัสดิ์ที่จุดตัดของถนนกับร่องรอยของทางเชื่อมชุมชนโบราณ สร้างพื้นที่รองรับการเข้าถึงและการเริ่มใหม่ของสิ่งที่หลง
เหลือในภูมิทัศน์เรือกสวน สร้างองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไทยประณีตศิลป์ที่เกิดจากการศึกษาโครงสร้างของสะพานวัดส้มเกลี้ยงเป็นจุดหมายตา จากจุดนี้เดินเข้าสู่แกนดั้งเดิม ซึ่งเคยเชื่อมชุมชนชาวสวนกับวัดของพวกเขาที่สะพานแห่งนี้ ทั้งทางน้ำและทางบก

3. จารีตพิธีการที่เคยอยู่หน้าวัด ให้อยู่หลังวัด

          เช่น การสรงน้ำพระในวันสงกรานต์ โดยออกแบบภูมิทัศน์ชายคลองให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน ใช้แนวคิดของการทำจิตกรรมฝาผนังภายนอกอาคารเพื่อสร้างบูรณภาพแบบใหม่ อนุรักษ์ศาลาข้างสะพานเป็นพื้นที่เฉพาะ สำหรับการเรียนรู้ทางสถาปัตยกรรมด้วยสื่อการสอนแบบถาวร

4. บำรุงรักษาอาคารตามแบบเดิม สร้างรายได้จากการเป็นศูนย์เรียนรู้และสุนทรียสัมผัสทางสถาปัตยกรรมไทยและภูมิทัศน์วัฒนธรรมไทย ผ่านระบบกองทุนมรดกวิถีชน

             การผลิตซ้ำทางความรู้ ความจริง ความดี ความงาม ของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ เป็นสมบัติร่วมของโรงเรียนสถาปัตยกรรมทั่วโลก


http://www.thai-heritage-building.com/








 
คณะผู้วิจัย :
ศรันย์ สมันตรัฐ และ ภวินท์ สิริสาลี
หน่วยงาน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 081-208-7053