พัฒนาการบรรจุภัณฑ์ของชาเขียวใบหม่อนเพื่อปรับปรุงคุณภาพด้านกลิ่นรส

• กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเกตุเหนือ

• วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อศึกษาเทคนิคการบรรจุ การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการผลิตจากชุมชนเป้าหมาย
  2. เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการบรรจุภัณฑ์และคุณภาพด้านกลิ่นรสของชาใบหม่อนที่เหมาะสม
  3. เพื่อศึกษาอายุการเก็บผลิตภัณฑ์และสภาวะที่เหมาะสมในการเก็บรักษา
  4. เพื่อศึกษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาและปรับปรุงแล้ว ทั้งด้านภายภาพ เคมี จุลชีววิทยา และประสาทสัมผัส

• วิธีการดำเนินงาน

  1. สำรวจสถานที่ผลิต วัตถุดิบ การดูแลรักษาวัตถุดิบก่อนการแปรรูป เครื่องมือในการผลิต กระบวนการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ สุขลักษณะการผลิต คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ปัญหาและอุปสรรคในการผลิตจากเกษตรกร รวมถึงสำรวจความนิยมรูปแบบของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ก่อนนำไปใช้บริโภค หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลและปัญหาที่แท้จริง
  2. นำข้อมูลและปัญหาที่ได้จากการสำรวจมาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต สุขลักษณะการผลิต เครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต สูตรการผลิต
  3. คัดเลือกภาชนะบรรจุ รูปแบบการบรรจุที่เหมาะสมและสภาวะในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์
  4. การถ่ายทอดเทคโนโลยี ใช้วิธีการบรรยายที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในหลักเทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้ มีการกำหนดวิธีการผลิตมาตรฐาน มีการสาธิตและฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเข้าใจและมีประสบการณ์จริง

• ผลการดำเนินงาน

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงคุณภาพในด้านการผลิตชาเขียวใบหม่อน

  1. ประตูมุ้งลวดทางเข้าปิดไม่สนิท และควรติดม่านกันแมลงเพิ่ม
  2. เขียงไม้ เป็นที่สะสมเชื้อโรค ควรเปลี่ยนเป็นเขียงพลาสติก
  3. พื้นตรงอ่างล้าง วัตถุดิบด้านหน้า ควรทำขอบกั้น กันน้ำเปียกไปยังบริเวณอื่น
  4. ประตูในห้องเก็บผลิตภัณฑ์ ไม่สามารถปิดล็อกได้ ทำให้สิ่งสกปรก หรือสัตว์พาหนะเข้ามา (อันตรายมาก) และประตูก็มีช่องโหว่
  5. ฝุ่นมาก ต้องหมั่นทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถู
  6. กาละมัง โต๊ะ กระทะ ควรเปลี่ยนเป็นแสตนเลส
  7. ควรติดเครื่องกรองน้ำ และใช้น้ำกรองในทุกขั้นตอนการผลิต
  8. ติดผ้าใบกันแดด กันฝนบริเวณผนังด้านติดถนน เพื่อกันฝุ่นเข้ามาในอาคารผลิต ปิดผ้าใบตอนเลิกงานเพื่อป้องกันฝุ่นและหมั่นทำความสะอาดอาคารผลิต
  9. มุ้งลวดมีช่องไม่ปิดสนิทกับอาคาร อาจมีแมลงเข้ามาได้ แก้ไขเบื้องต้นใช้ซิลิโคนอุดช่องโหว่
  10. ไม่ควรนำวัสดุไม่เกี่ยวข้องมาไว้รอบอาคารการผลิต เช่น ถุงปูน วัสดุก่อสร้าง เพราะทำให้มีฝุ่นเข้ามาในอาคารผลิต
  11. ผนังห้องเก็บผลิตภัณฑ์มีรู ควรติดมุ้งลวด ป้องกันแมลง และสัตว์พาหนะ

ปัญหาทางด้านสุขลักษณะ

  1. สมาชิกของกลุ่มยังสวมหมวกไม่ถูกต้อง ยังมีชายผมโผล่ออกมานอกหมวก
  2. ไม่ให้ทุกคนสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน นาฬิกา ต่างหู เข้าอาคารผลิต รวมทั้งผู้เข้าเยี่ยชมด้วย
  3. ให้ทุกคนหมั่นล้างมือ และฟอกสบู่ทุกครั้งก่อนเข้าอาคารผลิต หรือสัมผัสกับสิ่งสกปรก

ปัญหาเกี่ยวกับการผลิต

  1. ตัดก้านใบ และแกนกลางที่แข็งของใบหม่อนออก เพื่อป้องกันการทิ่ม ทะลุภาชนะบรรจุ
  2. ใช้ใบหม่อนที่ไม่แก่ ลักษณะใบมีความนุ่มมือ (แกนกลางใบไม่แข็ง) เพื่อนำมาใช้การแปรรู
  3. ขั้นตอนการผลิตให้ดำเนินการเหมือนกันทุกครั้ง เช่น การหั่น ก่อนการล้าง เป็นต้น
  4. ควบคุมเวลาในการล้าง การนึ่ง การคั่ว การอบ ในการผลิตเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพสม่ำเสมอ
  5. ควบคุมความสม่ำเสมอของชา ตอนคั่วให้มีความชื้นใกล้เคียงกัน
  6. ควรใช้ภาชนะบรรจุที่ป้องกันแสดงแดด ความชื้น และอากาศ เช่น ถุงลามิเนต ในการบรรจุผลิตภัณฑ์ บรรจุแบบสุญญากาศ หรือ มีการนำเอาตัวดูดซับออกซิเจนมาใช้ร่วมด้วย
  7. ถ้าเป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ (5 ก.ก.) ให้ใช้บรรจุภัณฑ์ 3 ชั้น ที่เป็นกระดาษ/พลาสติก/กระดาษ และแสดงวัน/เดือน/ปี ที่ผลิตกำกับไว้ด้วย และระบุเส้นทางการจำหน่วยเพื่อจะได้ทวนกลับหากมีปัญหาในภายหลัง
  8. ควรเขียนกรรมวิธีการผลิต แล้วติดแสดงไว้ตามจุดต่างๆ
 


 


 

 

สุมิตรา บุญบำรุง จุฑา มุกดาสนิท และ ชมดาว สิกขะมณฑล
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และ คณะประมง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์