หลังคาดินซีเมนต์
Soil-Cement Roof Tiles

        งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเรื่อง ดินซีเมนต์ เพื่อผลิตเป็นกระเบื้องหลังคาให้เป็นวัสดุทางเลือกสำหรับที่อยู่อาศัยในวิถีการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงโดยวัสดุมีราคาที่ไม่สูง และเป็นการประหยัดพลังงานในการก่อสร้างโดยได้ศึกษาวิธีการผลิตบล็อกประสานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งมี แนวความคิดในการเผยแพร่เรื่องดินซีเมนต์แก่ชาวบ้านคือ วัตถุดิบต้องเป็นวัสดุที่ราคาไม่แพง ชาวบ้านสามารถซื้อหาได้ในท้องถิ่น และสามารถใช้ก่อสร้างได้เอง โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษหรือเทคนิคยุ่งยากคุณสมบัติอิฐดินซีเมนต์ มีข้อดี คือมีความแข็งแรงทนทานเช่นเดียวกับการก่ออิฐถือปูน ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับไม้และอิฐก่อสร้างชนิดอื่น ชาวบ้านสามารถใช้เวลาว่างในการผลิตได้เอง โดยหาวัสดุในท้องถิ่นได้เอง ใช้แรงงานครัวเรือนช่วยกันก่อสร้างได้ไม่ยาก ช่วยลดค่าใช้จ่ายการจ้างแรงงาน ดินซีเมนต์มีสีผิวเนียนเรียบสวยงามตามธรรมชาติของดินแต่ละแหล่ง เมื่อเปรียบเทียบกับกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องใช้เตาเผาในการเผาให้กระเบื้องแข็งตัวจึงจำเป็นต้องมีเชื้อเพลิง เช่น ไม้ แกลบ น้ำมัน และแก๊ส เป็นต้น ขึ้นอยู่กับวิธีการผลิต หลังคาดินซีเมนต์ ไม่ใช้การเผาและใช้ซีเมนต์ในปริมาณที่ต่ำที่สุดและพอเหมาะ

            ผลการศึกษาพบว่าดินที่เหมาะสมควรเป็นดินลูกรังที่แห้ง และไม่แตกร้าวเมื่ออัดแน่น มีขนาดเม็ดดินไม่เล็กจนเป็นดินแป้งและไม่ใหญ่จนเป็นเม็ดทราย ปริมาณของน้ำที่เหมาะสมในส่วนผสมผลิตกระเบื้องหลังคาจากดินซีเมนต์นั้นจะเห็นได้จากการจับตัวและความแข็งแรง เมื่ออัดขึ้นรูปที่ความหนา 1 ซม. พบว่าสามารถนำไปใช้งานได้อย่างดี ส่วนผสมจากการทดลองอัดแผ่นที่อัตราส่วน ซีเมนต์และดิน 1:6 และ 1:5 สามารถคงรูปได้ที่ระยะเวลาอย่างน้อย 7 วันมีความแข็งแรงพอที่จะนำมาใช้เป็นกระเบื้องหลังคาและมีค่าการดูดซึมน้ำอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด หากเพิ่มระยะเวลาการบ่มกระเบื้องออกไป จะมีความแข็งแรงมากขึ้นตามลำดับ รูปภาพแสดง บล็อกไม้ และแผ่นกระเบื้องดินซีเมนต์ที่อัดขึ้นรูปแล้ว

 

พรสิทธิ์ รัตนศรีทัย และ สิงห์ อินทรชูโต
สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์