แผ่นฉนวนจากใยแก้วเหลือใช้
Reclaiming Fiberglass Waste for Building Insulation

          โลกปัจจุบันมีการคิดค้นสร้างสรรค์วัสดุต่างๆขึ้นมาอย่างมากมาย ทั้งที่พัฒนามาจากธรรมชาติและสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่จากหลากหลายกระบวนการ วัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์ แต่อย่างที่ทราบกันดีไม่มีสิ่งใดที่มีด้านเดียวเมื่อมีประโยชน์ก็อาจมีโทษด้วยเฉกเช่นกัน โดยเจตนาของผู้คิดค้นและผู้ผลิตไม่มีใครตั้งใจให้เกิดโทษไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ไฟเบอร์กล๊าส (Fiber Glass) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากที่กล่าวมา อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์กล๊าสได้เจริญเติบโตในประเทศอุตสาหกรรมตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนในประเทศไทยเริ่มมาเกือบ 30 ปี ระยะแรกนิยมนำไปทำเป็นเรือเร็ว สกู๊ตเตอร์ ต่อมาจึงได้มาทำพวก อ่างอาบน้ำ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น (พิชิต เลี่ยมพิพัฒน์, 2540) จากขั้นตอนการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นพวก อ่างอาบน้ำ ถังบำบัดน้ำเสีย และถังเก็บน้ำ แบบใช้เครื่องพ่น(Spray Up) ทำให้เกิดเศษใยแก้วเหลือใช้ (Fiberglass Waste) เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาระในการจัดเก็บ ในปัจจุบันภาระนี้ใช้วิธีจัดการโดยนำไปฝังกลบ (Landfill) เป็นหลัก เสียทั้งค่าจ้าง เสียทั้งทรัพยากร เสียทั้งเวลาและอาจสร้างปัญหาต่อการก่อสร้างในพื้นที่ฝังกลบตามมา แนวคิดและแนวทางในการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์หรือการนำไปแปรรูปใช้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น เป็นสิ่งที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันคำนึงถึงเป็นอย่างมากจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการรีไซเคิล (Recycle) หรือ รียูส (Reuse) สิ่งต่างๆมากมาย ใยแก้วเหลือใช้ (Fiberglass Waste) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากคุณสมบัติของตัวใยแก้วเองมีประโยชน์มากมาย รวมทั้งคุณสมบัติการเป็นฉนวนที่ดี ปัจจุบันฉนวนใยแก้วผลิตและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งฉนวนกันความร้อน ฉนวนกันเสียง ดูดซับเสียง

           จากอดีตจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำใยแก้วเหลือใช้ (Fiberglass Waste) มาทำให้เกิดประโยชน์ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ ก็ตาม การศึกษาใยแก้วเหลือใช้ นี้จะทำให้ทราบคุณสมบัติของใยแก้วเหลือใช้ (Fiberglass Waste)ในรูปแบบฉนวน ทั้งฉนวนกันความร้อน ฉนวนกันเสียง ดูดซับเสียง เพื่อเปรียบเทียบกับฉนวนใยแก้วที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และทราบขั้นตอนวิธีการนำเอาใยแก้วเหลือใช้ มาอัดขึ้นรูปเป็นแผ่นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และในแง่มุมของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังเป็นการช่วยลดขยะจากอุตสาหกรรม ลดการเหลือทิ้งของเศษใยแก้วเหลือใช้ สร้างประโยชน์ให้กับวัสดุเหลือทิ้งเพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืน

 

พิทักษ์สิน นิวาศานนท์ และ สิงห์ อินทรชูโต
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์