การวิจัยและพัฒนาวัสดุก่อสร้างจากเศษซากอาคาร
Research and development of building materials from construction debris

            ประเทศไทยในปัจจุบัน วัสดุก่อสร้างที่มีอยู่ในท้องตลาดโดยมากสร้างมลภาวะในกระบวนการผลิต เกิดการสิ้นเปลืองพลังงาน และปล่อยสารที่เป็นพิษต่อสุขภาพเมื่อเข้าอยู่อาศัย วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมยังมีอยู่เป็นจำนวนจำกัด อาคารส่วนมากในประเทศไทยสร้างจากอิฐและคอนกรีต เมื่อพิจารณาวงจรชีวิตของวัสดุเหล่านี้จะพบว่า พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ไปกับกระบวนการผลิตและก่อสร้าง ในขณะที่ช่วงชีวิตของมันกลับขึ้นอยู่กับอายุการใช้งานของอาคารเท่านั้น หลังจากการรื้อถอนอาคาร วัสดุประเภทเหล็กสามารถผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ในขณะที่เศษวัสดุประเภทอิฐ-ซีเมนต์กลับถูกละเลยและนำไปถมที่ วัสดุก่อสร้างดังกล่าวจึงกลายเป็นขยะในเวลาอันสั้นและยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นตราบเท่าที่การก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป เพื่อที่จะลดปริมาณขยะและนำเศษวัสดุจากการก่อสร้างดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะหาแนวทางในการนำเศษวัสดุประเภทอิฐ-ซีเมนต์มาใช้ใหม่ในงานสถาปัตยกรรม โดยการใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบบดอัดดิน เทคนิคดังกล่าวจะได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับระบบการก่อสร้างโดยใช้ดินประเภทอื่นที่พบในประเทศไทย เนื่องจากเป็นระบบการก่อสร้างที่ไม่ใช้การเผา จึงประหยัดพลังงานและไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสภาพแวดล้อม

            งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาและหาความเป็นไปได้ในการสร้างผนังดินอัดจากการใช้เศษวัสดุประเภทอิฐ-ซีเมนต์เป็นส่วนผสม มีการออกแบบและหาวิธีการขึ้นรูปหรือสร้างผนัง พร้อมทั้งทดสอบส่วนผสมของเศษวัสดุก่อสร้างเพื่อเข้าไปทดแทนการใช้ดินและซีเมนต์ การทดลองเบื้องต้นจึงมุ่งค้นหาศักยภาพของการใช้เทคนิคก่อสร้างแบบบดอัดดินดังกล่าวกับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม 2 แบบ ได้แก่ รูปทรงอิสระที่สามารถทำหน้าที่เป็นพื้นรับแรงกดจากด้านบน และผนังทรงเรขาคณิตที่มีสัดส่วนสูงขึ้นทางตั้งทำหน้าที่รับแรงด้านข้างโดยทดลองใช้ซีเมนต์: เศษวัสดุ: ดิน (ทราย) เป็นอัตราส่วน 1:1:5 ระยะเวลารอถอดแบบแตกต่างกันตามขนาดของชิ้นทดสอบ สำหรับ ชิ้นส่วนขนาด 1 ลบ.ม. โดยประมาณ รูปทรงอิสระใช้เวลา 1 สัปดาห์และชิ้นส่วนทรงเรขาคณิต ใช้เวลา 2 วัน ทั้งนี้การวิจัยยังไม่แล้วเสร็จ แต่พบว่าการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาระบบการก่อสร้างแบบดินอัดนี้ในเชิงอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับการพัฒนาแม่แบบให้มีความเหมาะสมและปรับใช้ได้กับหลากหลายรูปทรง จึงควรมีการศึกษาเพื่อการพัฒนาในทิศทางดังกล่าวต่อไป

 


 

ภัทรนันท์ ทักขนนท์ .Luke Yeung และ สิงห์ อินทรชูโต
สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2942-8960-3