การตรวจสอบภาวะถูกทำลายในผลทุเรียนด้วยเทคนิคการถ่ายภาพรังสีเอกซ์
Development of Technical Evaluation and X- ray Imaging
Systemfor Darian Seed Bover Inspection

         งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยบูรณาการสำหรับส่งเสริมการส่งออกทุเรียนในส่วนของการพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบภาวะการถูกทำลายภายในผลทุเรียนด้วยการถ่ายภาพรังสีเอกซ์ความไวสูง เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพภายในผลทุเรียนถึงขั้นการทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน รวมทั้งการแคระแกรนของเมล็ดทุเรียนด้วยการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย(NDT) ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบทำได้รวดเร็ว ไม่ต้องสูญเสียทุเรียนที่มีคุณภาพจากการสุ่มตรวจแบบผ่าพิสูจน์วิธีดั้งเดิม จากการทดลองถ่ายภาพผลทุเรียนด้วยเทคนิคคอมพิวเต็ดเรดิโอกราฟีชนิดภาพ 2 มิติ และ เทคนิคคอมพิวเต็ดโทโมกราฟีชนิด 16 สไลซ์ 3 มิติ พบว่าการถ่ายภาพทั้ง 2 เทคนิค มีศักยภาพในการตรวจสอบ แต่มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันทั้งในแง่ความสะดวกและราคาในการลงทุน

         ปัจจุบันมีการแข่งขันและกีดกันการส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรอย่างรุนแรง มีการสร้างเงื่อนไขในการปฏิบัติสำหรับผู้ส่งออก เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป เช่น การควบตุมหนอนแมลงและโรคระบาด การคุ้มครองผู้บริโภค หรือการกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้า เป็นต้น ผู้ส่งออกจึงจำเป็นต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของผลผลิตส่งออกที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพสูงให้เป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยในตลาดโลกและทำรายได้ส่งออกปีละมากกว่า 2 พันล้านบาท ปัจจัยด้านการควบคุมคุณภาพที่เป็นปัญหาคือ การตรวจสอบภาวะการเจาะทำลายของหนอนเจาะในเมล็ดทุเรียนดังในรูปที่ 1 รวมทั้งการทำลายของเชื้อราชนิดที่ซ่อนภายในเนื้อและเมล็ด ซึ่งไม่สามารถตรวจพบได้จากภายนอก ทำให้ผู้ประกอบการมักจะได้รับความเสียหายจาการถูกกักกันหรือส่งกลับเมื่อมีการตรวจพบหนอนเจาะผลทุเรียน ตามกรรมวิธีการควบคุมการแพร่กระจายของหนอนแมลงและโรคระบาดพืชของประเทศคู่ค้า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศและอาจถูกแย่งตลาดจากประเทศคู่แข่ง ดังนั้นการตรวจสอบคุณภาพของทุเรียนผลเพื่อให้ปราศจากการปะปนของทุเรียนผลที่มีภาวะการทำลายของเนื้อและเมล็ดจากหนอนหรือเชื้อโรคอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งรีบดำเนินการให้เกิดผลทั้งในด้านเชิงรุกให้การประกันคุณภาพทุเรียนผลและเชิงรับในการแก้ปัญหาเงื่อนไขการตรวจสอบคุณภาพทุรียนของประเทศคู่ค้า

รูปที่ 1 ภาวะการเจาะทำลายของหนอนเจาะในเมล็ดทุเรียน

                จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางเทคนิคเบื้องต้น สำหรับนำมาประกอบในการดำเนินการการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องต้นแบบของระบบตรวจสอบการทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน รวมถึงความผิดปกติของเมล็ดทุเรียนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การศึกษาและพัฒนาเทคนิคในการตรวจสอบ และการศึกษาเทคนิคในการประเมิณผล ในการพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบภาวะการทำลายภายในผลทุเรียนนี้ ได้ทดลองถ่ายภาพผลทุเรียนเพื่อการศึกษาผลเบื้องต้นด้วยเทคนิคคอมพิวเต็ดเรดิโอกราฟี (CR) พร้อมทั้งการสร้างภาพแบบ 2 มิติระนาบ โดยใช้เครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม เปรียบเทียบกับภาพถ่ายที่ได้จากเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเต็ดโทโมกราฟีทางการแพทย์รุ่นใหม่ความเร็วสูงซึ่งเป็นระบบถ่ายภาพที่มีสมรรถนะสูง

ผลของภาพถ่ายรังสีเอกซ์

                ก. ภาพถ่ายจากการจัดระบบถ่ายภาพด้วยเทคนิคคอมพิวเต็ดเรดิโอกราฟี โดยใช้แผ่นบันทึกภาพแบบ BAS SR ของบริษัท Fuji ระบบกำเนิดรังสีเอกซ์ในงานอุตสาหกรรมของ RICH.SEIFERT รุ่น 180 VOLT 160 TL และเครื่องอ่านข้อมูลภาพของ Fuji รุ่น BAS 2005 ใช้ระยะระหว่างต้นกำเนิดรังสีและแผ่นบันทึกภาพ 78 cm และ ฉากตะกั่วเสริมความเข้มแสงหนา 0.005 นิ้ว

                ข. ภาพถ่ายจากเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเต็ดเทอร์โมกราฟีทางการแพทย์ของบริษัท Philips รุ่น MDR - 1000 IDT ซึ่งมีระบบสแกนแบบ16 slices และสร้างภาพตัดขวาง 3 มิติ ใช้เงื่อนไขทางการแพทย์ในการสร้างภาพและได้เลือกภาพตัดขวางบางส่วน จากการทดลองพบว่าระบบถ่ายภาพแบบคอมพิวเต็ดเรดิโอกราฟี สามารถตรวจพบภาวะผิดปกติในเนื้อและเมล็ดทุเรียนได้ แต่ขึ้นกับตำแหน่งในการวางผลทุเรียนขณะถ่ายภาพ จะต้องถ่ายภาพมากกว่า 1 ระนาบ ระบบมีราคาประหยัดกว่า ในขณะที่ระบบถ่ายภาพด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเต็ดโทโมกราฟีทางการแพทย์ มีลักษณะเป็นภาพตัดขวาง 3 มิติต้องตรวจสอบภาพต่อเนื่องทั้งผลทุเรียนให้ผลตรวจพบความผิดปกติได้ชัดเจน แต่ระบบถ่ายภาพมีราคาสูงกว่า 10 เท่า และการดูแลรักษายุ่งยากกว่า อย่างไรก็ตามยังคงมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาลักษณะความผิดปกติเทียบกับภาวะจริงที่เกิดในผลทุเรียน เพื่อสร้างความชำนาญในการวิเคราะห์ภาพและแปรผล

 

 

สุวิทย์ ปุณณชัยยะ1นฤปวัจก์ เงินวิจิตร2 สมยศ ปรุงเมือง3 และ อำไพ สุขบำเพิง4
1ภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 0-2218-6775
2ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 0-2562- 5444
3โครงการปฏิบัติการทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์และปฏิกรณ์ปฏิบัติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 0-2579-5230-4
4โครงการป้องกันภัยจากนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 0-2579-5230-4