การถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตน้ำชีวจิตสำเร็จรูป
Extension and Training on process of canned R.C. beverage

            น้ำชีวจิต หรือน้ำอาร์ ซี (R.C., Rejuvenating Concoction) คือ เครื่องดื่มที่ผลิตจากการต้มเมล็ดธัญชาติหลายชนิดเข้าด้วยกันพอสุก แล้วรินแต่น้ำมาดื่ม กุลวดี ตรองพาณิชย์ และคณะ (2546) ได้พัฒนาสูตรโดยใช้วัตถุดิบที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ซึ่งจากการวิจัยและพัฒนาพบว่า การใช้วัตถุดิบ 8 ชนิด คือ ลูกเดือย ลูกบัว ข้าวฟ่าง ข้าวมันปูกล้อง ข้าวเจ้ากล้อง ข้าวเหนียวกล้อง ถั่วเหลือง และงาดำ ในอัตราส่วนที่เหมาะสม มีผลทำให้น้ำชีวจิตที่ได้ มีปริมาณโปรตีน แคลเซี่ยม เหล็ก และ Total antioxidants (as gmE vitamin C) มากกว่าน้ำชีวจิตสูตรเปรียบเทียบที่มีส่วนผสมของข้าวสาลีกล้อง ข้าวบาร์เร่ย์กล้องและข้าวโอ๊ต น้ำชีวจิตที่วิจัยได้จึงมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยในระยะพักฟื้น โดยช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายผู้ป่วย กระบวนการผลิตน้ำชีวจิตบรรจุกระป๋องที่เหมาะสมไม่ทำให้คุณค่าทางอาหารของน้ำชีวจิตลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ยังทำให้คุณค่าทางอาหารบางชนิด เช่น ปริมาณของใยอาหาร ไขมัน โปรตีนและแร่ธาตุบางชนิดเพิ่มขึ้นด้วย จากการทดสอบความชอบและการยอมรับน้ำชีวจิตที่พัฒนาได้ พบว่า ผู้ชิมมีความชอบและยอมรับในทุกคุณลักษณะโดยไม่มีความแตกต่างอย่างเป็นนัยสำคัญ (p<0.05) กับสูตรควบคุม น้ำชีวจิตบรรจุกระป๋องจึงอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บริโภคหรือผู้พักฟื้น โดยไม่ต้องยุ่งยากกับการจัดหาวัตถุดิบและจัดทำน้ำชีวจิตเองทุกวันด้วย นอกจากนี้ เพื่อลดต้นทุนการผลิต วัตถุดิบเหลือใช้ที่ได้หลังจากการผลิตน้ำชีวจิตยังสามารถนำมาผลิตเป็นข้าวต้มชีวจิตบรรจุกระป๋องได้อีกด้วย

            จากผลการวิจัยและพัฒนาดังกล่าว กุลวดี ตรองพาณิชย์ และคณะ (2548) ได้รับทุนสนับสนุนต่อเนื่องในการถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตน้ำชีวจิตสำเร็จรูปจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีกรรมวิธีการผลิตน้ำชีวจิตและข้าวต้มชีวจิตบรรจุกระป๋อง/ขวด ให้กับกลุ่มพัฒนาอาชีพเกษตรกร กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มเอกชนที่ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ และประชาชนผู้สนใจทั่วไป การฝึกอบรมได้จัดขึ้นในปีงบประมาณ 2549 โดยจัดเป็น 2 รุ่นๆ ละประมาณ 30 คน ที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งผู้รับการฝึกอบรมได้ให้ความสนใจอย่างมาก นอกจากนี้สถาบันฯ ยังได้ผลิตน้ำชีวจิตและข้าวต้มชีวจิตบรรจุกระป๋อง เพื่อทดลองจำหน่ายให้กับผู้สนใจจะซื้อไปบริโภคอีกด้วย โดยสามารถหาซื้อได้ทุกวันทำการ ที่ห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

กุลวดี ตรองพาณิชย์1 สิริพร สธนเสาวภาคย์1 ช่อลัดดา เที่ยงพุก1 และศานิต เก้าเอี้ยน2
1สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
2ภาควิชาเศรษฐศาสตร์และทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์
โทร. 0-2942-8629–35 ต่อ 617