การเขียนแบบลายผ้าทอมือในงานอนุรักษ์และงานร่วมสมัย
Pattern design of conservative and contemporary weaving.

           การเขียนลายผ้าทอ คือ การบันทึกลายโดยแสดงเป็นรูปและกลไกของการทอผ้า การเขียนแบบลายที่สมบูรณ์ คือการแสดงให้เห็นการตัดกันของเส้นยืนและเส้นพุ่งที่ชัดเจนและจำเพาะเจาะจง รวมทั่งการร้อยตะกอ การผูกเชือกโยงตะกอ และ ลำดับการเหยียบไม้เท้าขณะทอผ้า ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จำเป็นต่อการทอผ้า
            การเขียนลายมักถูกเปรียบเทียบเหมือนกับโน้ตดนตรีซึ่งต้องการความถูกต้อง และบ่อยครั้งมีการกล่าวว่านักร้องผู้ยิ่งใหญ่อ่านโน้ตดนตรีไม่ได้ สำหรับวงการงานทอผ้าก็เช่นกัน นักทอผ้ามีจำนวนมากที่ไม่สามารถอ่านและเขียนลายได้เอง และชอบการออกแบบลายบนกี่ทอผ้า ซึ่งขัดกับหลักการของผู้ทอผ้ามืออาชีพ ที่จำเป็นต้องออกแบบโดยใช้กระดาษและดินสอก่อนการทอบนกี่จริงๆ

           ข้อได้เปรียบของการเขียนแบบลายก่อนการทอผ้าบนกี่จริง มีหลายประการ ตัวอย่างเช่น

    • การเขียนแบบลายเป็นบันทึกโดยใช้อักษรย่อ การเขียนแบบลายที่สมบูรณ์มีรายละเอียดที่ชัดเจนที่สามารถทอลายได้เหมือนเดิมทุกครั้ง
    • การเขียนแบบลายเป็นการบันทึกการทออย่างเที่ยงตรง เพื่อให้โอกาสแก่คนทอได้รับผลสำเร็จและสามารถแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องก่อนการลงมือทอจริง
    • การพัฒนาลาย หรือดัดแปลงลายผ้าทอสามารถทำบนกระดาษกร๊าฟได้ เช่น กรณีที่มีการเขียนแบบลายไว้เรียบร้อยแล้ว สามารถแก้ไขข้อบกพร่องได้บนกระดาษ การดัดแปลงลายโดยทำการเปลี่ยนแปลงจุดร้อยตะกอ การผูกไม้เท้าเหยียบ และลำดับขั้นของการเหยียบเท้าใหม่ โดยนักเขียนแบบสามารถมองเห็นลายใหม่ที่จะได้บนผืนผ้าทอบนกระดาษกร๊าฟ และนอกจากนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงสีของเส้นด้ายยืนและด้ายพุ่งเพื่อให้เกิดสีบนผ้าทอตามต้องการ การเปลี่ยนแปลงสีบนกระดาษกร๊าฟง่ายและใช้เวลาน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยการทอบนกี่ทอผ้าจริง
    • การเขียนแบบลายทำให้สามารถทอลายเดิมได้ แม้มีข้อเสียคือมักมีการลอกเลียนแบบคนอื่นตลอดเวลา อย่างไรก็ตามข้อดีก็มีคือเป็นการนำลายทอของคนอื่นมาเป็นแนวทางในการพัฒนาเป็นลายทอของตนเองได้ และนับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่ามาก เป็นการก่อให้เกิดบรรยากาศสร้างสรรค์การออกแบบอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นการพัฒนาลายทอใหม่อย่างหลากหลายตลอดเวลาด้วย
    • การเขียนลายทอ คือ ได้กลไกของการทอผ้าและสิ่งที่ปรากฏบนผืนผ้า การเขียนลายทอสามารถคัดลอกลายทอโบราณขึ้นมาใหม่ได้ และสามารถทอซ้ำเป็นผืนผ้าใหม่เพื่อการอนุรักษ์ได้
    • การเขียนลายสามารถใช้โปรแกมคอมพิวเตอร์ช่วย ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างงานอนุรักษ์และงานร่วมสมัยที่มีการออกแบบตามรสนิยมของตลาด แต่ยังคงไว้ซึ่งการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นเมือง

ลายพื้นฐาน (Elementary Weaves)
           เป็นแม่แบบผ้าทอลายต่างๆ มี 3 รูปแบบ คือ ลายขัด (Plain weave) ลายสอง (Twill weave) และลายต่วน (Satin weave) โดยทั่วไปเป็นการทอผสม 2-3 รูปแบบลาย


การเขียนลายทอสำหรับกี่ทอมือทั่วไป
           เป็นการเขียนลายลงกระดาษกร๊าฟ ช่องสีทึบคือเสีเส้นพุ่ง และสีขาวคือสีเส้นยืน การเขียนลายควรเขียน 4 ดอกจบลายเพื่อให้บริเวณจบดอก และอีก 1 จบดอกลายเพื่อกำหนดตำแหน่งการร้อยตะกอ การผู้ไม้เท้าเหยียบ และลำดับการเหยียบเท้า นิยมลายผ้าทอที่ 2-8 ตะกอ

การเขียนลายระบบขิต
           เป็นลายทอที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าลาย 8 ตะกอ การเขียนลายจะมีความแตกต่างจากที่กล่าวแล้ว ลาย 1 แถวนอนที่เขียนบนกระดาษกร๊าฟคือแถวเส้นด้ายพุ่ง 1 เส้น หรือ 1 แผงตะกอ โดยทั่วไปมีไม่เกิน 31 แผงตะกอ คนทอต้องมีความชำนาญมาก

การเขียนลายทอระบบเครื่องแจ๊กการ์ด
           เป็นลายทอแบบเดียวกับลายขิต ลาย 1 แถวนอนบนกระดาษกร๊าฟคือแถวเส้นด้ายพุ่ง 1 เส้น หรือ 1 แผ่นการ์ด(Card)
           กี่แจ็กการ์ดคือเครื่องทอมือกลที่ใช้ในการสร้างลวดลายบนเนื้อผ้าได้หลากหลายรูปแบบ หลักการทำงานคือการใช้ชุดแผ่นการ์ดซึ่งเป็นตัวบังคับให้เกิดลายผ้า ควบคุมลำดับการทอด้วยมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้วิจัยและพัฒนาสร้างเครื่องแจ๊กการ์ดเสร็จในปี 2549 เป็นเครื่องมือที่สะดวกต่อการทองานอนุรักษ์และงานร่วมสมัย สามารถทอลายที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทอได้รวดเร็วและคนทอไม่ต้องมีความชำนาญมากนัก

สุชาดา อุชชิน1  ปวริน ตันตริยานนท์2  ปรีชาเกียรติ บุญยเกียรติ3  และ  วนิดา ผาสุขดี1
1สถาบันผลิตผลเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3123 หมู่ที่2 ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
โทร. 086-5738045