สืบเนี่องจากการศึกษาวิจัยมาตรการป้องกันภัยที่หลายประเทศที่เคยประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์อันเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยแผนที่วิศวกรรมธรณีและแผนการจัดการพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันเพื่อการป้องกันธรณีพิบัติภัย
ทุนวิจัย สวพ.มก. พอสรุปได้ว่ามีมาตรการทางการจัดการสภาวะแวดล้อมอยู่
4 ระดับ โดยเรียงลำดับจากขนาดความสมเหตุสมผลจากมากไปหาน้อย ได้แก่
มาตรการระดับที่ 1
อพยพออกจากเขตประสบภัยพิบัติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ตั้งที่ประสบภัยพิบัติอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงภัยสูงหรือจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยระดับวิกฤต
มาตรการระดับที่ 2
หากมาตรการระดับที่1
ไม่สามารถทำได้ ให้ใช้มาตรการระดับที่ 2 ได้แก่ การลดความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่เสี่ยงภัย
ไม่ส่งเสริมให้มีกิจกรรมใหม่เกิดขึ้น โดยอาจใช้กลไกหลายๆประการร่วมกัน
อาทิเช่น มาตรการทางผังเมืองเช่นการกำหนดเขตการใช้ที่ดิน มาตรการทางเศรษฐศาสตร์
เช่นลดภาษีประกอบการ ภาษีที่ดินสำหรับกิจการที่สอดคล้องกับแผนแม่บท
หรือเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าปกติสำหรับกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับแผนแม่บท
เป็นต้น
มาตรการระดับที่ 3
หากมาตรการที่1
และมาตรการที่2 ไม่อาจกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้พิจารณาใช้มาตรการที่
3 ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรับ โดยให้เลือกใช้ในพื้นที่ที่มีระดับการเสี่ยงภัยน้อย
ได้แก่ การเสริมสร้างสถานที่สำหรับหนีภัย หลบภัย สำหรับประชากรในพื้นที่ทั้งนี้ควรเป็นสถานที่ซึ่งหนีภัยได้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด
และโดยมีการฝึกซ้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้รวมไปถึงมาตรการเตือนภัย
ต่างๆอีกด้วย อนึ่งระบบเตือนภัยนั้น จำเป็นต้องบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอโดยระบบเตือนภัยที่อยู่กลางทะเลลึกมีเหตุปัจจัยให้ระบบบกพร่องได้ง่ายจึงไม่พึงประมาทและวางใจในระบบเตือนภัยแต่เพียงอย่างเดียว
มาตรการระดับที่ 4
เป็นมาตรการในระดับกิจการ
ครัวเรือน หรือ อาคาร โครงการ โดยสัมพันธ์กับมาตรการในระดับที่3. ได้แก่
การจัดวางผังบริเวณให้มีแนวการป้องกันภัยเช่น แนวต้นไม้ สระน้ำ และออกแบบอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรงโดยเฉพาะจากแรงในแนวราบและแรงยก
และ ยกระดับใช้งานปรกติให้สูงพ้นระดับภัยพิบัติ เป็นต้น
อาคารศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใน เขตความเสี่ยงสูงในกรณีธรณีพิบัติภัย กล่าวคือ
ตั้งอยู่ใน หาดประพาส ตำบลกำพ่วนกิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง นับเป็นกลุ่มอาคารซึ่งใช้แนวทางมาตรการข้างต้นโดยเฉพาะระดับที่
3 คือเป็นจุดหนีภัย และมาตรการระดับที่4 ได้แก่การยกระดับการใช้สอยให้พื้นภัย
การวางลำดับกลุ่มประโยชน์ใช้สอยสัมพันธ์กับการรับคลื่น การใช้ทางลาดเพื่อการหลบภัยและใช้ประโยชน์เป็นทางสัญจรและพักผ่อนในยามปกติ
นับเป็นสถาปัตยกรรมหลังภัยพิบัติซึนามิ
|