ผนังสีเขียว
Biofacade

            การใช้ต้นไม้ประกอบอาคารสามารถให้ประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมได้หลายประการ โดยเฉพาะเมื่อในบริเวณซึ่งไม่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมืองได้ งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาการใช้ต้นไม้บนกรอบอาคารโดยมุ่งเน้นที่การใช้ไม้เลื้อยในลักษณะแผงกันแดด ให้แก่อาคารสำนักงานหรือพักอาศัยที่มีการระบายอากาศแบบธรรมชาติ ในสภาพอากาศเขตร้อนชื้น ทำการทดสอบคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแผงกันแดดนั้น ติดตามคุณสมบัติตลอดการเจริญเติบโตในช่วงระยะเวลา 6 เดือน เปรียบเทียบกับกรอบอาคารที่ไม่มีแผงกันแดด ในสถานที่อาคารจริง นอกจากนี้ การเลือกต้นไม้ การออกแบบวิธีการปลูกและการให้น้ำได้นำเสนอในงานวิจัยด้วยเพื่อประโยชน์แก่การนำไปใช้จริง

            ในการคัดเลือกต้นไม้ ใช้พันธ์ไม้ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เติบโตเร็ว ดูแลรักษาง่าย มีความสวยงาม ปกคลุมได้ดีในแนวตั้ง ความหนาแน่นปานกลาง ความสูงไม่ต่ำกว่า 3 เมตร โดยได้ทำการสุ่มคัดเลือกมาจำนวน 5 ชนิด ได้แก่สร้อยอินทนิล พวงชมพู เล็บมือนางอัญชัญ และตำลึง ทำการประเมินคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้วคัดออกมา 3 ชนิดได้แก่ สร้อยอินทนิล พวงชมพูและตำลึง นำมาทำการปลูกบนระแนงขนาด 1*1 เมตร เพื่อติดตามการเติบโตและทดสอบการดูดซับ C02 จากอัตราการสังเคราะห์แสงของใบ 6 ช่วงอายุโดยใช้เครื่องมือ วัดอัตราการสังเคราะห์แสงจากใบ Li-6400 และเครื่องมือวัดความเขียวของใบ Chlorophyll meter SPAD502

            ผลการทดลองในขั้นต้นพบว่า สร้อยอินทนิลมีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีที่สุด เนื่องจากมีอัตราการสังเคราะห์แสงที่สูงและยาวนานกว่าพืชอีก 2 ชนิด เมื่ออายุใบมากขึ้นก็ยังคงสังเคราะห์แสงได้ดี ตำลึงมีอัตราการสังเคราะห์แสงแปรปรวนในแต่ละช่วงอายุ พวงชมพูมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูงในช่วงต้นและลดลงเมื่ออายุใบมากกว่า 28 วัน

            การทดลองในขั้นต่อไปจะเป็นการนำพันธ์ไม้ที่มีดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีที่สุดมา
ทดสอบในChamber เพื่อหาปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ต่อแผงไม้เลื้อยขนาด 1*1 เมตร และทดสอบอุณหภูมิห้องจำลองขนาด 1 ลบ.ม.ซึ่งติดตั้งเข้าไปหลังแผงไม้เลื้อยด้วย ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการทดลองโดยใช้ประกอบอาคารในสถานที่จริง เพื่อทดสอบคุณสมบัติในการป้องกันตวามร้อน และติดตามผลตลอดช่วงการเจริญเติบโตเป็นเวลา 6 เดือน ขั้นตอนเหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

พาสินี สุนากร ชนิกานต์ ยิ้มประยูร และ เกรียงศักดิ์ มั่นเสถียรสิน
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์