w
ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสารสกัดหยาบจากเนระพูสีไทย
Antimicrobial Activity of Crude Extracts of Tacca Chantrieri



           ในปัจจุบันประเทศไทยสูญเสียเงินตราจำนวนมากในการสั่งซื้อเคมีภัณฑ์ชนิดต่างๆ จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดจุลินทรีย์ที่มีอันตรายต่อมนุษย์ พืช และสัตว์ ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในด้านสาธารณสุข การเกษตร อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ เนระพูสีไทย หรือค้างคาวดำ (Tacca chantrieri Andre) เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีนำมาใช้ในการรักษาโรค โดยนำต้นมาต้มน้ำอาบแก้เม็ดผื่นคันตามตัว ส่วนเหง้าใช้ต้มหรือดองเหล้า แก้ท้องเสีย นอกจากนี้ยังช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และโรคตับอักเสบอีกด้วย ดังนั้นการศึกษาวิจัยศักยภาพและประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากเนระพูสีไทยในการยับยั้งและ/หรือฆ่าทำลายจุลินทรีย์ จะทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของพืชสมุนไพรชนิดนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า

           จากการสกัดสารออกฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์จากเหง้าของเนระพูสีไทยพบว่ามีสารออกฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ทั้งในสารสกัดหยาบที่ได้จากการสกัดด้วย ethanol และสารสกัดหยาบที่ได้จากการสกัดด้วยน้ำร้อน โดยสารออกฤทธิ์มีผลต่อแบคทีเรียและยีสต์ แต่ไม่มีผลต่อเชื้อราที่ใช้ทดสอบ ซึ่งสารสกัดหยาบของเนระพูสีไทยที่ได้จากการสกัดด้วย ethanol (EX3) ที่ความเข้มข้นสูงสุดที่ใช้ทดสอบ คือ 250 มก./มล.สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียและยีสต์ที่ใช้ทดสอบทุกชนิด (ภาพที่ 1) แต่ไม่สามารถฆ่าทำลายยีสต์ (Candida albicans) โดยมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียในกลุ่มแบคทีเรียรูปท่อนสั้น ติดสีแกรมลบได้ดี และเมื่อนำสารสกัด EX3 ไปแยกสารในกลุ่มที่มีขั้วและไม่มีขั้วออกจากกันโดยการแลกเปลี่ยนระหว่างชั้นของสารละลาย ethyl acetate และน้ำ ในอัตราส่วน 2:1 นำส่วนที่ได้จากการแยกไปทดสอบ พบว่า สารออกฤทธิ์ในกลุ่มที่ไม่มีขั้วที่ได้จากการแยกด้วย ethyl acetate (EA-EOH8) สามารถยับยั้งการเจริญและฆ่าทำลายแบคทีเรียและยีสต์ที่ใช้ทดสอบได้ทุกสายพันธุ์ที่ระดับความเข้มข้น 6.25 มก./มล. (ภาพที่ 2) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่สูงขึ้นของสารสกัดในการต้านการเจริญของแบคทีเรียและยีสต์ ในขณะที่สารออกฤทธิ์ในกลุ่มที่มีขั้วซึ่งละลายในน้ำ (EA-H2O8) ไม่สามารถยับยั้งการเจริญและฆ่าทำลาย Bacillus subtilis และ Serratia marcescens ได้ที่ระดับความเข้มข้นสูงสุดที่ใช้ทดสอบ คือ 250 มก./มล. (ภาพที่ 3) สำหรับสารสกัดหยาบที่ได้จากการสกัดเหง้าสดด้วยน้ำร้อน (DH2) ที่ระดับความเข้มข้น 160 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ใช้ทดสอบได้ 5 สายพันธุ์ แต่ไม่สามารถฆ่าทำลาย Ser. marcescens และ C. albicans (ภาพที่ 4) จากผลการทดลองแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเนระพูสีไทยในการต้านการเจริญจุลินทรีย์ที่อาจก่อให้เกิดโรคได้ คือ S. aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดฝีหนอง E. coli ซึ่งบางสายพันธุ์อาจก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และ A. hydrophilus ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุโรคในปลา ซึ่งสอดคล้องกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้เนระพูสีไทยต้มน้ำอาบแก้เม็ดผื่นคันตามตัว ส่วนเหง้าใช้ต้มหรือดองเหล้า ดื่มแก้ท้องเสีย




มณี ตันติรุ่งกิจ1  พัชราภรณ์ ภู่ไพบูลย์2  และ อรวรรณ ชวนตระกูล1
1ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ฝ่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลาง สถาบันวิจัยและพัฒนา บางเขน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 034-351-399