การใช้ประโยชน์ของไหมอีรี่สำหรับอุตสาหกรรมปั่นด้าย
Utilization of Eri silk for cotton spinning

         

          การเลี้ยงไหมอีรี่ (Philosamia ricini) ในประเทศไทย มีเลี้ยงเฉพาะในงานวิจัย หรือกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ภายใต้โครงการนำร่อง โดยใช้พืชอาหาร ได้แก่ ใบระหุ่ง ใบมันสำปะหลัง เป็นต้น แต่การศึกษาการนำไหมอีรี่ไปใช้ประโยชน์ในงานสิ่งทอยังมีน้อย จากการที่ไม่สามารถสาวเส้นไหมจากรังได้เหมือนไหมเลี้ยง ทั้ง ๆ ที่สมบัติทางกายภาพของไหมอีรี่ที่มีการยืดตัวได้สูงกว่าไหมเลี้ยง และทนต่อโรคและแมลง รวมทั้งการมีแหล่งอาหารของใบมันสำปะหลังปริมาณมากจากผลพลอยได้ของการปลูกมันสำปะหลัง งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการผลิตเส้นด้ายปั่นผสมไหมอีรี่และฝ้าย เพื่อต้องการเพิ่มแนวทางการใช้ประโยชน์จากไหมอีรี่สำหรับเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับอุตสาหกรรมปั่นด้าย สำหรับผลิตเส้นด้ายปั่นผสมเส้นใยไหมอีรี่และเส้นใยชนิดอื่น เพื่อเสริมความแข็งแรง และให้เกิดการใช้งานได้หลากหลาย ทั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงรังไหมอีรี่ให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนจากสกว. ภายใต้ชุดโครงการการใช้ประโยชน์ไหมอีรี่ครบวงจร

          จากผลการศึกษา พบว่าเส้นใยสั้นสามารถเตรียมจากรังเปิดด้วยการลอกกาวและทำความสะอาด โดยไม่จําเป็นต้องฟอกขาวก่อน แล้วนํามาผ่านเข้าเครื่องเปิดรังไหมและเครื่องสางเส้่นใยก่อนตัดเป็น เส้นใยสั้นที่มีความยาว 30 มิลลิเมตร หลังกระบวนการเตรียมเส้นใยสั้นของไหมอีรี่ได้ผลผลิตของ เส้นใย 80% โดยมีองค์ประกอบทั่วไป คือ ปริมาณเซริซินและน้ำมันเหลืออยู่ต่ำกว่า 1% เส้นใยสั้นของไหมอีรี่ที่เตรียมได้สามารถนำมาผสมกับเส้นใยชนิดอื่น ๆ เช่น ฝ้าย ไนลอน ไลโอเซลล์ เรยอน อะคริลิก เส้นใยจากไม้ไผ่ เป็นต้น การผสมไหมอีรี่และฝ้าย ที่ปริมาณเส้นใยไหมอีรี่ 0, 25, 50, 75, 100% ถูกนำมาปั่นเป็นเส้นด้ายที่โรงงานปั่นด้ายฝ้าย ด้วยขนาดเบอร์ด้าย 30 และ 50 tex โดยใช้การผสมในลักษณะสไลเวอร์ผลการศึกษาพบว่า เส้นด้ายปั่นผสมดังกล่าว มีสมบัติความไม่สม่ำเสมอและความแข็งแรงมากกว่าเส้นด้ายฝ้าย เมื่อมีการผสมเส้นใยไหมอีรี่ตั้งแต่ 50% ขึ้นไป ทําให้ค่า CV% มากขึ้น แต่ไม่มีผลต่อค่าความเป็นขน (hairiness) ของเส้นด้าย ส่วนค่าสมบัติทางเชิงกลมีค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อเบอร์เส้นด้ายเพิ่มขึ้น ค่าความสม่ำเสมอและความแข็งแรงเพิ่มขึ้น แต่ให้ความเป็นขนมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถผลิตเส้นด้ายปั่นมือไหมอีรี่ 100% จากสไลเวอร์ของเส้นใยไหมอีรี่ ด้วยเครื่องปั่นมือ ซึ่งสามารถผลิตเบอร์ด้าย 60-70 tex และมีความไม่สม่ำเสมอของเส้นด้ายสูง เพื่องานหัตถกรรม

          เส้นด้ายปั่นผสมจะถูกนำมาฟอกขาวและศึกษาการย้อมสีรีแอคทีฟ พบว่าการมีเส้นใยไหมอีรี่เพิ่มขึ้นในส่วนผสมของเส้นด้ายปั่น จำเป็นต้องฟอกขาวถึง 2 ขั้นตอน แบบ ออกซิเดชั่น และรีดักชั่น ก่อนที่จะย้อมสีรีแอคทีฟ ซึ่งพบว่าสมบัติการย้อมสีแสดงด้วยค่าการดูดซับสี (%exhaustion) และค่าความเข้มสี (K/S) มีค่าลดลงเมื่อปริมาณเส้นใยไหมอีรี่เพิ่มขึ้น
เส้นด้ายปั่นผสมไหมอีรี่ที่ปริมาณต่าง ๆ นำมาทอด้วยเครื่องทอมือ ด้วยเส้นยืนที่เป็นฝ้ายและไหม ผ้าทอที่ได้มีสมบัติทางเชิงกลของผ้า คือ ค่าต้านแรงดึงขาด (tensile strength) เปอร์เซ็นต์การยืดตัว (%elongation) และค่าต้านแรงฉีกขาด (tear strength) ในแนวเส้นพุ่งเพิ่มขึ้น เมื่อปริมาณไหมอีรี่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้เส้นด้ายปั่นมือ มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะนำมาเป็นเส้นยืนและเส้นพุ่ง ด้วยการทอลายพื้น ด้วยเครื่องทอมือชนิดผ้าหน้าแคบ (กว้าง 20 นิ้ว) จากสมบัติทางกายภาพของผ้าทอที่ได้ศึกษาดังกล่าวสามารถนํามาใช้ประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสมบัติของผ้า จากผลการศึกษาในโครงการ สามารถส่งผลให้เกิดการนำร่องเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม พร้อมกับการประสานงานกับกลุ่มเกษตรกรเพื่อเป็นการสนับสนุนการผลิตรังไหมอีรี่ของภาคเกษตรกรรม

 

รังสิมา ชลคุป1, จันทร์ทิพย์ ซื่อสัตย์2 และ สุชาดา อุชชิน1
1ฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ สถาบันผลิตผลเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ภาควิชาอุตสาหกรรมสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-9405634, 02-9428604