การสำรวจบริเวณเสี่ยงภัยหลุมยุบจากการทำเหมืองหินปูน
Investigation for Ground Collapse Risk at Limestone Mining.

           พิบัติภัยหลุมยุบเนื่องจากโพรงในหินปูน มีโอกาสเสี่ยงสูงในการเกิดหลุมยุบบริเวณที่มีกิจกรรมของเหมืองหินปูน เนื่องจากมีการปฏิบัติงานทำเหมืองที่ต้องใช้เครื่องจักรหนัก การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ในการออกแบบการสำรวจที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อหาโพรงหรือถ้ำใต้ดินที่อยู่ระดับตื้นหรือระดับอันตรายที่อาจเกิดหลุมยุบเป็นการระวังและป้องกัน อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากหลุมยุบ

วัตถุประสงค์
           เพื่อศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาโครงสร้าง (โพรง/ถ้ำ) ของหินปูนที่อาจบ่งบอกบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดหลุมยุบในบริเวณเหมืองหินปูน ด้วยเทคนิคการวางขั้วไฟฟ้าหลายขั้วแบบสัมผัสกับหินดานที่เป็นหินปูน


พื้นที่ศึกษา
           เหมืองหินปูนของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด ตั้งอยู่ในเขตตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และอยู่ในกลุ่มเขาซับปลาก้าง ซึ่งเป็นไหล่เขาทางด้านทิศตะวันออกสุดของเทือกเขาหินปูนที่มียอดเขาวางตัวติดต่อกันในแนวตะวันออก – ตะวันตก ปรากฏอยู่ในแผนที่ภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหาร มาตราส่วน 1 : 50,000 ระวาง 5138 II (จังหวัดสระบุรี) บริเวณที่ทำการศึกษา ที่ตำแหน่งพิกัดประมาณ 698480 ตะวันออก และ 1624460 เหนือ

ลักษณะภูมิประเทศ
           พื้นที่ศึกษาวิจัย มีลักษณะเป็นพื้นที่บ่อเหมืองบนภูเขา (Open Pit) ลักษณะพื้นที่ภายในบ่อเหมือง มีลักษณะเป็นขั้นบันได (Bench) บริเวณพื้นที่บ่อเหมืองมีระดับความสูง ประมาณ 158 - 283 ม.รทก

การสำรวจด้วยการสร้างภาพจากค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าเชิง 2 มิติ ( 2D Resistivity Imaging )
           เป็นวิธีการวัดค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าอย่างเป็นระบบด้วยเครื่องมือ IRIS INSTRUMENT รุ่น Syscal R1 Switching 48 Multi-electrodes จัดวางขั้วไฟฟ้าแบบหลายขั้วระยะห่างขั้วไฟฟ้า 5 เมตร ความยาวของ 1 ชุดการสำรวจ 235 เมตร ข้อมูลที่ได้จะมีความละเอียดและต่อเนื่องทั้งแนวดิ่งและแนวระดับ แสดงเป็นภาพภาคตัดขวางมีความลึกประมาณ 20 เมตร

การสำรวจ
           พื้นที่ศึกษาวิจัยสำรวจเป็นบริเวณหินดานโผล่ (พื้นที่หินปูนไม่มีชั้นหน้าดิน) ทำการออกแบบลักษณะขั้วไฟฟ้าแบบผิวสัมผัส (Ground surface contact) แทนขั้วไฟฟ้าแบบเดิม กำหนดแนวสำรวจมีการกำหนดในบริเวณที่ทราบมีโพรงใต้ดินอยู่บางส่วน

ผลการสำรวจ
           ผลการสำรวจสามารถชี้ตำแหน่ง และลักษณะของโพรงในหินปูน บริเวณที่คาดว่าน่าจะเป็นโพรงแห้ง (CA) มีอยู่ 3 บริเวณ มีขนาดความกว้าง 10 - 15 เมตร ลึกประมาณ 3 - 8 เมตร ที่ตำแหน่งประมาณ 30 80 และ 120 และที่คาดว่าโพรงที่มีน้ำและดินเหนียว (CW) ซึ่งพบตามรอยแตก (FR) ที่ตำแหน่งประมาณ 70 100 140 150 และ 190 - 220 ลึกตั้งแต่ 2 - 3 เมตร ถึง 9 - 12 เมตร มีเขตของหินดานที่ระดับลึก 12 เมตร บริเวณด้านตะวันตก (ที่ตำแหน่ง 0 - 50)

สรุป
           การสำรวจแบบภาคตัดขวางด้วยการสร้างภาพจากค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าเชิง 2 มิติ ด้วยเทคนิคการวางขั้วไฟฟ้าหลายขั้วแบบสัมผัสกับหินดานที่เป็นหินปูน สามารถหาลักษณะโครงสร้างธรณีวิทยา เช่น โพรง รอยแตก แนวสัมผัส และรอยเลื่อนโดยเฉพาะที่ระดับตื้นซึ่งอาจเป็นบริเวณที่อาจเกิดหลุมยุบได้


ดีเซลล์ สวนบุรั  และ วิภู ศรีเอี่ยมสะอาด
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2562-5555 ต่อ 1409