การสำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อหาน้ำบาดาล บริเวณ วิทยาเขตศรีราชา
Geophysical Exploration for Groundwater at Sriracha Campus.

           ความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งในภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมมีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ด้วยเทคนิคสมัยใหม่ เช่น การสำรวจด้วยเทคนิคการสร้างภาพค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าเชิง 2 มิติ มาประยุกต์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียด และมีประสิทธิภาพในการหาแหล่งน้ำใต้ดิน

วัตถุประสงค์
           การประยุกต์เทคนิคการสร้างภาพค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าเชิง 2 มิติ เพื่อศึกษาสภาพอุทกธรณีวิทยาน้ำใต้ดิน และ ศักยภาพน้ำใต้ดินของพื้นที่วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พื้นที่ศึกษา
           พื้นที่วิทยาเขตศรีราชา ตั้งอยู่ระหว่างเส้นกริดตั้งที่ 708000–710000E และ พิกัดนอนที่ 1450000 – 1452000N ความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลประมาณ 60–198 เมตร และอยู่ห่างจากทะเลประมาณ 2.5 กิโลเมตร ติดกับเขาเกษตร มีลักษณะเป็นภูเขาค่อนข้างชันทางด้านตะวันตก และตะวันออก ความชันน้อยลงเมื่อลงไปทางตอนใต้

อุทกธรณีวิทยาทั่วไป
           อุทกธรณีวิทยาทั่วไป ประกอบด้วย ตะกอนเชิงเขา (Colluvial deposits) มีความพรุนกักเก็บน้ำบาดาลได้น้อย และหน่วยหินแกรนิต (Granitic unit) น้ำบาดาลจะอยู่ในชั้นหินผุและในรอยแตก ซึ่งให้น้ำในเกณฑ์ต่ำ

การสำรวจวัดค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า
           เป็นการวัดค่าความแตกต่างของค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าของชั้นดินหรือชั้นหิน รวมทั้งหาความลึกของชั้นหินดาน และลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่บ่งบอกถึงศักยภาพของน้ำบาดาลในรอยแตกของชั้นหินดาน

การสำรวจแบบหยั่งลึก
           การวางระบบขั้วไฟฟ้าเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าปรากฎของชั้นดิน ชั้นทราย ชั้นหินและ ชั้นน้ำบาดาลตามแนวดิ่ง ณ จุดที่ทำการสำรวจ ซึ่งทำให้ทราบความลึก/ความหนาของชั้นหินดานที่เป็นหินแข็งในพื้นที่และความหา ความลึกของร่องรอยแตกในหินแข็ง โดยกำหนดการวางระบบขั้วไฟฟ้าแบบชลัมเบอร์เจร์ ถึงระดับความลึกประมาณ 100 เมตร

การสำรวจการสร้างภาพเชิง 2 มิติ
           การวางระบบขั้วไฟฟ้าแบบหลายขั้ว สามารถกำหนดเป็นภาคตัดขวางตามเส้นสำรวจที่มีความละเอียดของข้อมูลสูง กำหนดระบบการวางขั้วไฟฟ้าเป็นแบบ ไดโพล-ไดโพล ได้ความลึกประมาณ 75 เมตร

ผลการสำรวจ
           พบบริเวณที่มีโครงสร้างทางธรณีที่น่าจะเป็นรอยแตกซึ่งคาดว่าเป็นแหล่งศักยภาพน้ำบาดาล บริเวณหลังหอพักนิสิตหญิง ถนนข้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมศรีราชา และบริเวณทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่ ระดับความลึกประมาณ 65 50 และ35 เมตร ตามลำดับ

สรุป
           การสำรวจแบบการสร้างภาพเชิง 2 มิติ สามารถหาลักษณะโครงสร้างทางธรณีที่น่าจะเป็นแหล่งที่มีศักยภาพน้ำบาดาลในระดับลึก เช่น รอยเลื่อน หรือรอยแตกได้เป็นอย่างดี และทำการสำรวจแบบหยั่งลึก ณ บริเวณที่สนใจเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเจาะบ่อบาดาลต่อไป

ดีเซลล์ สวนบุรี  และ พงศธร ลีสัมพันธ์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2562-5555 ต่อ 1409