โฟกัสไขปริศนา
The Language of Microscopy

          
                ปัจจุบันกล้องจุลทรรศน์นับว่ามีบทบาทสำคัญกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น สามารถช่วยให้ผู้ศึกษาวิจัยได้มองเห็นรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมองเห็นโทษที่เกิดขึ้น นับเป็นความก้าวหน้าของการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ โดยเฉพาะเลนส์และระบบการส่องสว่าง ประกอบกับอาศัยหลักการมองเห็นของนัยน์ตาซึ่งมีกำลังแยกแยะได้ดีที่สุด กล้องจุลทรรศน์แบ่งตามลักษณะการใช้งานได้แก่ กล้องจุลทรรศน์แบบง่ายหรือเลนส์เดี่ยว (Simple Microscope), กล้องจุลทรรศน์เลนส์ประกอบ (Compound Microscope) สามารถให้กำลังขยายสูงมากเนื่องจากในกล้องเดียวประกอบด้วยเลนส์หลายชนิดและแต่ละชนิดยังมีขนาดและคุณภาพแตกต่างกัน และกล้องจุลทรรศน์แบบพิเศษ (Special Microscope) ลักษณะและหลักการทั่วไปเหมือนกับกล้องจุลทรรศน์เลนส์ประกอบแบบธรรมดาเพียงแต่มีระบบเลนส์ และระบบการส่องสว่าง และการป้องกันอันตรายแตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจจะใช้รังสีที่นัยน์ตามองไม่เห็นเข้ามาใช้ก็ได้ เช่น กล้องจุลทรรศน์สเตอริโอ (Stereoscopic Microscope) , กล้องจุลทรรศน์อินเวอร์ตเต็ต (Inverted Microscope), กล้องฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescence Microscope), กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงเลเซอร์ (Confocal Laser Scanning Microscope) ตลอดจนกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Electron Microscope) เนื่องจากกล้องจุลทรรศน์เลนส์ประกอบทั้งแบบใช้แสงธรรมดาและใช้แสงแบบอื่นๆ มีข้อจำกัดในการขยายภาพ เพราะกำลังขยายและกำลังการแยกแยะนอกจากขึ้นอยู่กับลักษณะของเลนส์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับความยาวคลื่นของแสงที่ใช้อีกด้วย กล้องจุลทรรศน์เลนส์ประกอบที่มีคุณภาพดีที่สุดมีกำลังแยกแยะขณะใช้ส่องดูวัตถุขนาดเล็กสุดเพียง 0.2 ไมโครเมตร เท่านั้น ส่วนกำลังขยายรวมไม่เกิน 2,000 เท่า ขณะที่ใช้กำลังขยายสูงสุด มองเห็นวัตถุภายในเซลล์ที่มีขนาดเล็กเป็นจุด ไม่สามารถแยกแยะรายละเอียดได้ว่าส่วนนั้นเป็นอะไร นักฟิสิกส์หลายคนได้แสดงให้เห็นว่าอิเล็กตรอนมีช่วงคลื่นสั้นกว่าแสงมาก จึงนำอิเล็กตรอนมาใช้ในกล้องจุลทรรศน์แทนคลื่นแสง และใช้เลนส์แม่เหล็กแทนเลนส์กระจก กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนมี 2 ชนิด คือ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน (Transmission Electron Microscope: TEM) เป็นกล้องที่ใช้ศึกษาโครงสร้างหรือองค์ประกอบของเซลล์และเนื้อเยื่อภายใน มีการเตรียมตัวอย่างด้วยเทคนิคเฉพาะ สำหรับใช้ดูตัวอย่างในลักษณะภาคตัดขวางบางพิเศษ และอีกชนิดหนึ่งคือกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope: SEM) เป็นกล้องที่ใช้ศึกษาโครงสร้างหรือองค์ประกอบพื้นผิวของวัตถุ โดยลำอิเล็กตรอนขนาดเล็กมากจะถูกโฟกัสและกวาดไปตามผิวของตัวอย่าง อุปกรณ์ภายในจับเอาอิเล็กตรอนที่กระเจิงออกมาจากผิวตัวอย่าง นำไปควบคุมความเข้มของอิเล็กตรอนแล้วส่งไปยังหลอดทีวี เพื่อให้อิเล็กตรอนปรากฏเป็นภาพขึ้นในจอรับภาพ


                                       


                                              
                                       

                              ข้าวคือพลังแห่งชีวิต ทุกเมล็ดธรรมชาติสร้างมาอย่างประณีต

ผจงจิต ภูจิญญาณ์, ยุพดี เผ่าพันธ์, พัชรี อำรุง และ ชัยมงคล คงภักดี
งานกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ฝ่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลาง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2942-8740 ต่อ 101-105