วิศวกรรมปฏิกิริยาเคมีและเซลล์เชื้อเพลิง
Chemical Reaction Engineering and Fuel Cell

           

วิศวกรรมปฏิกิริยาเคมี

          ปฏิกรณ์เคมีเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการผลิต แต่ก็มีความหลากหลายมากมายหลายชนิด ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหนึ่ง ๆ ที่ผลิตสารเคมีชนิดเดียว อาจจะเลือกใช้ปฏิกรณ์ต่างชนิดกัน ซึ่งจะขึ้นกับเทคโนโลยีที่บริษัทเลือกใช้ โดยทั่วไปอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศมักจะพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การเดินเครื่องปฏิกรณ์ก็ต้องพึ่งพาคำแนะนำจากต่างประเทศ เจ้าของเทคโนโลยี ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีปฏิกรณ์เคมีเพื่ออุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี จะเป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถประสิทธิภาพของบุคลากรในประเทศ เป็นรากฐานการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และนำไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ต่อไป

          การทำปฏิกิริยาผลิตภัณฑ์ในระดับอุตสาหกรรมเป็นการขยายขนาดของโรงงานต้นแบบ ซึ่งเป็นการนำข้อมูลการทดลองในห้องปฏิบัติการมาขยายขนาดการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อดูผลกระทบของความเบี่ยงเบนไปจากพฤติกรรมอุดมคติที่มีต่อการขยายขนาด ดังนั้นในการพัฒนาปฏิกรณ์เคมีในอุตสาหกรรมเคมีจะเริ่มจากการศึกษาและพัฒนาปฏิกิริยาในการสังเคราะห์สารผลิตภัณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์และออกแบบเครื่องปฏิกรณ์เคมีขนาดเล็กแล้วขยายขนาดขึ้นเป็นขนาดโรงงานนำร่องเพื่อทดสอบจำลองการผลิตจริง

          ปัจจุบันนี้ปฏิกรณ์เคมีที่ใช้แพร่หลายแบ่งได้เป็นหลายชนิดเช่น ปฏิกรณ์สำหรับการเกิดปฏิกิริยาระหว่างก๊าซของเหลว ก๊าซ-ของแข็ง ก๊าซของเหลว-ของแข็ง ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้งาน รูปร่างของปฏิกรณ์เคมี ตัวอย่างปฏิกรณ์ที่เป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ฟลูอิดไดซ์เบด บับเบิลคอลัมน์ ปฏิกรณ์แก๊ส-ลิฟท์ การศึกษาการออกแบบและวิเคราะห์ปฏิกรณ์ชนิดใดชนิดหนึ่งจะต้องคำนึงถึง การเคลื่อนที่เฟสต่างๆ ในปฏิกรณ์และการถ่ายเทความร้อนและมวล ปฏิกรณ์พหุเฟสที่มีเฟสตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปสัมผัสกันในปฏิกรณ์จะมีกลไกการเคลื่อนที่ของแต่ละเฟสซับซ้อน จึงทำให้กลไกการถ่ายเทความร้อนและมวลซับซ้อนไปด้วย การเปลี่ยนแปลงทางเคมีจึงต่างไปจากปฏิกรณ์ชนิดอุดมคติ การศึกษาการทำงานปฏิกรณ์เคมีจึงมีความหลากหลาย และในการออกแบบจะขึ้นกับรูปร่าง ขนาดของปฏิกรณ์ ขนาดของตัวเร่งปฏิกิริยา อัตราการเกิดปฏิกิริยา การถ่ายเทความร้อนและมวล การออกแบบเพื่อจัดสร้างเป็นรายตัวไม่มีสูตรสำเร็จเพียงสูตรเดียว
ในงานส่วนที่นำมาแสดงนี้จะประยุกต์ การวิเคราะห์และการออกแบบปฏิกรณ์กับกระบวนการแตกสลายเศษพลาสติกให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง กระบวนโลแคทเพื่อกำจัดไฮโดรเจนซัลไฟด์ การผลิตก๊าซเชื้อเพลิงทดแทนไดเมทธิลอีเทอร์ การผลิตโพลีเอทธิลีน การออกซิเดชันไซโคลเฮกเซน

เซลล์เชื้อเพลิง
          เซลล์เชื้อเพลิง เป็นอุปกรณ์เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเคมี และมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นพลังที่ใช้งานได้สูงกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในสองถึงสามเท่า เซลล์เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า น้ำและความร้อน จากเชื้อเพลิงและออกซิเจนในอากาศ และปล่อยน้ำออกมาเพียงอย่างเดียวเมื่อใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง จึงมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

          ขณะนี้ เซลล์เชื้อเพลิงชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (Proton exchange membrane, PEM) มีการพัฒนามาก โดยมีรถบัสเซลล์เชื้อเพลิงสาธิตวิ่งบริการผู้โดยสารใน แคนาดา สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน และมีเป้าหมายจะจำหน่ายทั่วไปใน 10 ปีนี้ สำหรับรถยนต์ มีการวิจัยและสร้างรถขึ้นและให้ผู้ใช้ทดสอบการใช้งานจริงแล้ว เช่น บริษัทฮอนด้า โตโยต้า ฮุนได บริษัทเดมเลอร์ไครส์เลอร์ ฟอร์ด จีเอ็ม และรถยนต์บริษัทเมอร์ซิเดสเบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู

          เซลล์เชื้อเพลิงมีส่วนประกอบสำคัญคือส่วนประกอบอิเล็กโทรดเมมเบรน (Membrane Electrode Assembly, MEA) ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี ได้พลังงานไฟฟ้า และ เกิดน้ำเป็นผลพ่วง ในเซลล์เชื้อเพลิงแบบ PEM ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงป้อนเข้าทางด้านแอโนด (ขั้วลบ) แตกตัวเป็นอิเล็กตรอนและโปรตอน (H+) ส่วนแก๊สออกซิเจนจากอากาศป้อนเข้าไปที่ขั้วแคโทด (ขั้วบวก)

          ในงานส่วนที่นำมาแสดงนี้ได้พัฒนาต้นแบบเซลล์ MEA สำหรับเซลล์เชื้อเพลิง PEM ขนาดเล็ก สำหรับขยายเป็นขนาด ผลิตไฟฟ้า 350 วัตต์ ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้เป็นเทคโนโลยีในประเทศซึ่งอาจนำไปใช้ในระบบโทรศัพท์ทางไกลชนบทที่ห่างไกลจากไฟฟ้าหรือใช้ในบ้านเรือนแต่ละหลังในชนบทที่ห่างไกลจากไฟฟ้า เป็นไฟฟ้าแสงสว่างใช้กับโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาได้ การพัฒนานี้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อทันการณ์กับนานาชาติ สร้างความเชื่อถือ ตลอดจนภาพพจน์ที่ดีของประเทศทางด้านพลังงานทดแทน และ สะอาด

วิศวกรรมปฏิกิริยาเคมี
 

 

เซลล์เชื้อเพลิง

 

สุนันท์ ลิ้มตระกูล และ เทอดไทย วัฒนธรรม
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน)
โทร. 0-2942-8555 ext 1210, 1208