จากวิกฤตการณ์น้ำมันที่แพงขึ้นในปัจจุบันก่อให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องของพลังงานทดแทนในประเทศไทย
โดยแหล่งพลังงานที่ กำลังได้รับความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ คือ น้ำมันไบโอดีเซลจากพืชพลังงาน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถือเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านศาสตร์แห่งเกษตรกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของน้ำมันไบโอดีเซล
จึงได้ก่อตั้ง โครงการ เคยู-ไบโอดีเซล ( KU-Biodiesel) ขึ้น
โครงการเคยู-ไบโอดีเซล (KU-Biodiesel) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มี รศ.ดร.เพ็ญจิตร
ศรีนพคุณ เป็นผู้อำนวยการโครงการได้เริ่มทำการวิจัยบูรณาการสบู่ดำตั้งแต่ปี
พ.ศ.2548 ด้วยความร่วมมือจากคณาจารย์ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องและคณะผู้วิจัยจากหลายหน่วยงาน
ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นผู้นำในการตอบปัญหาต่างๆให้แก่สังคมในเรื่องเกี่ยวกับการปลูกพืชพลังงาน
เช่น สบู่ดำและการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ปัจจุบันโครงการมีสมาชิกมากกว่า
100 คน และงานวิจัยมากกว่า 58 เรื่อง
แผนงานวิจัย 3 แผน
1. ฝ่ายเกษตร -การผลิตสบู่ดำ การปรับปรุงพันธุ์ และการปลูกสบู่ดำ
ขอบเขตของงานวิจัยฝ่ายเกษตรครอบคลุมถึงการปลูกสบู่ดำ
การศึกษาการเจริญเติบโตและสรีรวิทยา การจัดการและพัฒนาเขตกรรมสบู่ดำ
การรวบรวมพันธุ์ การปรับปรุงพันธุ์ การขยายพันธุ์ การคัดเลือกและอนุรักษ์พันธุ์
อิทธิพลการงอกของเมล็ด การเก็บรักษาเมล็ด การศึกษาลายพิมพ์ดีเอ็นเอของสบู่ดำ
การสำรวจและจัดการแมลงศัตรูสบู่ดำ ระบบการปลูกสบู่ดำในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง
อิทธิพลของพันธุ์และสภาวะการเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อคุณภาพน้ำมันที่สกัดได้
การประเมินต้นทุนและผลตอบแทนการปลูกสบู่ดำ การศึกษาผลกระทบทางสังคมของการปลูกสบู่ดำ
เครื่องจักรเก็บเกี่ยวสบู่ดำ การนำสบู่ดำไปใช้ประโยชน์ ฯลฯ เป็นต้น
2. ฝ่ายเทตนิค - เทคนิคการผลิตไบโอดีเซลจากสบู่ดำ
การวิจัยในฝ่ายเทคนิคประกอบไปด้วยการศึกษาการใช้ประโยชน์จากเปลือกและต้นสบู่ดำ
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนเป็นน้ำมันไบโอดีเซล การประยุกต์การกลั่นเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำมันไบโอดีเซล
การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลที่สภาวะเหนือจุดวิกฤต การประเมินวัฎจักรน้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำ
การจำลองปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชัน การศึกษาปฎิกิริยาทรานส์เอส
เทอริฟิเคชันโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ การผลิตไบโอดีเซลด้วยวิธีการผลิตแบบสองขั้นตอน
วิธีการและอุปกรณ์สำหรับผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาทางชีวภาพ (เอนไซม์ไลเปส)
การศึกษาสภาวะการตรึงเอนไซม์ไลเปส การปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันสบู่ดำ
การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาซีโอไลต์สำหรับผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำ
การพัฒนาเครื่องกะเทาะเปลือกและเครื่องหีบสบู่ดำ การทดสอบการใช้งานน้ำมันสบู่ดำในเครื่องยนต์ดีเซลและเครื่องจักรทางการเกษตร
รวมทั้งศึกษาถึงผลกระทบของเครื่องยนต์ด้วย ฯลฯ เป็นต้น
3. ฝ่ายเพิ่มมูลค่า การใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากการผลิต
ฝ่ายเพิ่มมูลค่าทำการวิจัยในเรื่องต่างๆ
ได้แก่ การสกัดสารออกฤทธิ์จากสบู่ดำและการใช้ประโยชน์ การศึกษาความเป็นพิษและลดพิษของสบู่ดำ
การวิเคราะห์ปริมาณไซยาไนด์ การสกัด curcin ให้บริสุทธิ์และการประยุกต์ใช้
การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสบู่ก้อนจากสบู่ดำ การพัฒนาธูปไล่ยุงจากเศษเหลือของการสกัดน้ำมันสบู่ดำ
เทคโนโลยีสะอาดในการสกัดวิตามินอีจากสบู่ดำ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพและปริมาณสารที่มีต่อผลทางโภชนาการและสารพิษจากเมล็ดสบู่ดำ
การศึกษาศักยภาพของสบู่ดำในการจับคืนคาร์บอนสู่ดิน การพัฒนากระบวนการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสทที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดฟองจากกากสบู่ดำเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตอิฐมวลเบา
ฯลฯ เป็นต้น
|