ผลิตภัณฑ์แผ่นประกอบ (Particleboard) จากเส้นใยฟางข้าวและเศษยางรถยนต์

          ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังเผชิญปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและในอนาคต เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆทั่วโลก สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาดังกล่าว คือขยะของเหลือใช้ที่มาจากเกษตรกรรม ของเสียจากโรงงาน รวมทั้งอินทรีย์สารต่างๆ ที่เป็นผลิตผลของความก้าวหน้าทางวิทยาการ นอกจากนี้การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆยังส่งผลให้มีการก่อสร้างอาคารมากขึ้นเรื่อยๆ และในการก่อสร้างดังกล่าวต้องใช้ไม้เป็นส่วนประกอบสำคัญด้วย ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม การปลูกป่าทดแทนก็ไม่สามารถทำได้ตามที่ต้องการ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนไม้ ไม้มีราคาแพงมากในปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี ด้วยปัญหาดังกล่าวข้างต้นทำให้ในหลายๆประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีในการนำขยะหรือของเสียรวมทั้งวัสดุธรรมชาติเหลือใช้จากการเกษตรกรรม มาใช้ประโยชน์ใหม่ ในการทำวัสดุก่อสร้างทดแทนไม้ ซึ่งนอกจากช่วยลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ยังลดปัญหาเรื่องขยะหรือของเสีย และยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะและวัสดุธรรมชาติที่ ถูกมองข้ามประโยชน์ไปด้วย

           ในปัจจุบันเกือบทุกประเทศทั่วโลกพยายามศึกษาวิจัยถึงความเป็นได้ในการใช้เส้นใยธรรมชาติจากพืชต่างๆในการผลิตแผ่นประกอบ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เช่นในประเทศอินเดีย มีการผลิตแผ่นประกอบ จากเปลือกถั่วลิสงที่มาจากโรงงานน้ำมันถั่วลิสง ใช้ขยะหรือของเสียจากโรงเลื่อยจักร ในประเทศเกาหลีใต้มีการศึกษาวิจัยดูความเป็นไปได้ของการผลิตแผ่นประกอบจากฟางข้าวและยางรถยนต์โดยใช้โพลียูรีเทน (Polyurethane) เป็นตัวประสาน (Binder) ผลการศึกษา สรุปว่าแผ่นประกอบที่ทำจากฟางข้าวและยางรถยนต์มีคุณสมบัติดีกว่าแผ่นประกอบ ที่ทำจากไม้หลายประการ ผลการศึกษาวิจัยของนักวิชาการชาวเกาหลีดังกล่าวข้างต้นน่าสนใจยิ่ง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่ปลูกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ จึงมีฟางข้าวเป็นวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรที่มีปริมาณมากหาได้ง่าย ส่วนยางรถยนต์ ก็เป็นวัสดุเหลือใช้ที่มีเป็นจำนวนมากและหาได้ง่ายในประเทศเช่นกัน

           โครงการนี้เป็นการนำเสนอผลงานที่ได้จากการวิจัยค้นคว้าในการผลิตแผ่นประกอบจากฟางข้าวและเศษยางรถยนต์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทดแทนการใช้ไม้ภายในประเทศได้ เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมภายในประเทศในภายภาคหน้า

 

 

 

วิศิษฏ์ โล้เจริญรัตน์,.สมเจตน์ พัชรพันธ์ และ อมรรัตน์ เลิศวรสิริกุล
ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 0-2942-8555 ต่อ 2102-2104