แบบจำลองสายการผลิตอัตโนมัติแบบหลากหลายผลิตภัณฑ์และสามารถคัดแยกของเสียได้
Developing Physical Model for Simulating Automatic Multi-production

ความสำคัญและที่มาของปัญหา

        ในปัจจุบันระบบ Programmable Logic Controller (PLC) นิยมประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมในสายการผลิตแบบอัติโนมัติ เช่น สายการผลิตแบบต่อเนื่องในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ดังนั้นในหลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ได้เปิดสอนวิชา 206481 ปฏิบัติการวิศวกรรมอุตสาหการ 2 ในภาคการศึกษาต้น และปลาย สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคปกติและภาคพิเศษ จำนวน 70-80 คนต่อภาคการศึกษา ซึ่งมีปฏิบัติการระบบ Programmable Logic Controller (PLC) 1 และ 2 เป็นส่วนหนึ่งของวิชานี้

วัตถุประสงค์ของโครงงาน       

    1. สร้างแบบจำลองทางกายภาพเสมือนจริงประกอบการเรียนการสอนวิชา 206481 ปฏิบัติการวิศวกรรมอุตสาหการ 2 ในส่วนของปฏิบัติการระบบ Programmable Logic Controller (PLC) 1 และ 2 เพื่อทำให้นักศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจในการนำไปประยุกต์ใช้งานจริง

    2. ทำให้นักศึกษาได้เห็นการประยุกต์ใช้ระบบ PLC ในอุตสาหกรรมจริง

ขอบเขตของโครงงาน

        สร้างแบบจำลองทางกายภาพเสมือนจริงของระบบการผลิตบนสายพาน ควบคุมด้วยเครื่อง PLC รุ่น PRO15 ของบริษัท OMRON รายละเอียดของแบบจำลองเป็นดังนี้


รูปที่ 1  ตัวอย่างแบบจำลองทางกายภาพ


        รายละเอียดของแบบจำลองทางกายภาพมีดังนี้

    1. แบบจำลองเป็นระบบการผลิตแบบดึง กล่าวคือ จะมีการผลิตก็ต่อเมื่อมีความต้องการจากลูกค้า ประกอบด้วยสถานีงานย่อย 3-5 สถานีเรียงไปบนสายพานเดียวกัน
    2. ทางด้านปลายสายการผลิตมีแผงควบคุมสำหรับให้ลูกค้าระบุชนิดของผลิตภัณฑ์ (แต่ละชนิดผ่านกระบวนการผลิตต่างกัน) และปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์
    3. เมื่อมีความต้องการ วัตถุดิบจะถูกปล่อยเข้าสู่สายการผลิต เมื่อผ่านสถานีงานที่ 1 เป็นสถานีงานพ่นสี ชิ้นงานจะถูกหยุดอยู่ที่หน้าสถานีงานนี้เป็นเวลา 5 วินาที (เวลาในการพ่นสี) เพื่อทำการปฏิบัติงานเมื่อครบ 5 วินาทีแล้วจึงจะไหลต่อไปยังสถานีงานที่ 2
    4. สถานีงานที่ 2 เป็นสถานีงานเป่าลมเพื่อทำให้สีแห้ง ชิ้นงานจะถูกหยุดอยู่ที่หน้าสถานีงานนี้เป็นเวลา 10 วินาทีแล้วจึงจะไหลต่อไปยังสถานีงานที่ 3 หรือสถานีงานสำหรับควบคุมคุณภาพชิ้นงาน ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์
    5. สถานีงานที่ 3 – 4 เป็นสถานีงานสำหรับเคลือบชิ้นงานขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ ซึ่งชิ้นงานจะถูกหยุดอยู่ที่หน้าสถานีงานนี้เป็นเวลา 5-10 วินาที
    6. สถานีสุดท้ายเป็นสถานีงานสำหรับควบคุมคุณภาพชิ้นงานด้วยขนาดของชิ้นงาน (ชิ้นงานที่มีขนาดเล็กกว่ามาตรฐานถือเป็นชิ้นงานเสีย) ระบบนิวเมติกจะผลักชิ้นงานเสียออกจากสายการผลิตทันที
    7. ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจะถูกนำมาพักไว้ที่ปลายสายการผลิต เพื่อผลิตชิ้นงานต่อไปจนครบความต้องการของลูกค้า จึงจะหยุดสายการผลิต สำหรับผลิตภัณฑ์จะมีอยู่ 3 ประเภทให้ลูกค้าเลือกได้ตามความต้องการ

พัชรี โตแก้ว ทองรัตนะ 1  ธีรวัฒน์ ศรีเปารยะ1    ปารเมศ อินสว่าง2  และ ณัฐภูมิ ก้อนสมบัติ2
1 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2 นิสิตภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์