ระบบติดตามนำเสนอข้อมูล และควบคุมรถสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
The Kasetsart University Bus Tracking, Information, and Control Systems

         งานวิจัยนี้นำเสนอระบบติดตามตำแหน่งของรถสวัสดิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทราบข้อมูลตำแหน่งของรถสวัสดิการที่เวลาต่างๆ แล้วนำเอาข้อมูลการเดินทางของรถสวัสดิการมาประมวลผล และนำเสนอต่อผู้ใช้บริการในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผลิตผลของงานวิจัยนี้จะเน้นที่การใช้ประโยชน์โดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของบุคคลากรในวิทยาเขตแห่งนี้

          ในระบบนี้ ผู้ใช้จะติดตามการเดินรถของรถสวัสดิการจากได้โดยผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้งานจะต้องติดตั้งโปรแกรมการสำหรับการเฝ้ามองรถสวัสดิการ ซึ่งจะมีแผนที่ของวิทยาเขตและการเคลื่อนที่ของรถสวัสดิการแบบเวลาจริง

          ปรัชญาในการออกแบบระบบอยู่บนพื้นฐานแห่งความประหยัด เน้นการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิม และการเข้าใจได้ง่ายต่อผู้ใช้งาน สถาปัตยกรรมของระบบได้แสดงในรูปที่ 1 โดยรถสวัสดิการแต่ละคันจะมีเครื่องรับ GPS และเครื่องส่งสัญญาณวิทยุกำลังส่งต่ำ จุดรับสัญญาณจะนำข้อมูลที่ส่งจากรถสวัสดิการส่งมายังคอมพิวเตอร์แม่ข่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์แม่ข่ายนี้ทำหน้าที่กระจายข้อมูล ไปยังคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต

          ในการออกแบบขั้นต้น ระยะหวังผลของเครื่องรับส่งดิจิตอลจะประมาณ 300 เมตร จำนวนจุดรับสัญญาณจะมีประมาณ 10-15 จุด เพื่อให้ครอบคลุมบริเวณเส้นทางการเดินรถทั้งวิทยาเขต ในงานวิจัยนี้ทดสอบโดยใช้อุปกรณ์ติดรถยนต์ (Bus Box) และ จุดรับสัญญาณวิทยุ (Radio Pickup Port) ต้นแบบ มีจำนวนเพียงอย่างสองชุด

          อุปกรณ์ Bus Box (BB) ตามรูปที่ 2 จะถูกติดตั้งบนรถสวัสดิการแต่ละคัน อุปกรณ์ Bus Box ประกอบไปด้วย อุปกรณ์รับสัญญาณ GPS จากดาวเทียมเพื่อระบุตำแหน่ง เครื่องส่งสัญญาณวิทยุแบบดิจิตอล และหน่วยประมวลผลซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของ BB รถแต่ละคันจะส่งข้อมูลตำแหน่ง รหัสประจำตัวของรถ หมายเลขเส้นทางไปยังจุดรับสัญญาณวิทยุ หรือ Radio Pickup Port (RPP) ตามรูปที่ 3 เพื่อถ่ายข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์แม่ข่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์ Radio Pickup Port นี้ จะถูกกวางในตำแหน่งที่สามารถรับสัญญาณจากรถโดยสารได้สะดวก นำข้อมูลส่งผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไปยังเซิฟเวอร์โดยตรง ไม่มีการประมวลผลเพิ่มเติม

          คอมพิวเตอร์แม่ข่ายนำข้อมูลที่รับได้จาก RPP มาประมวลผล แล้วส่งข้อมูลตำแหน่งรถไปยังคอมพิวเตอร์ลูกข่าย (Client) ผู้ใช้งานจะมีเปิดโปรแกรมซึ่งจะมีแผนที่ของวิทยาเขตบางเขน แล้วรอรับข้อมูลการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของรถประจำทาง นำมาแสดงผลแบบเวลาจริง ตามรูปที่ 4 การใช้งานโปรแกรมลูกข่ายในระบบต้นแบบนี้ ผู้ใช้จะต้องใส่ IP Address ของคอมพิวเตอร์แม่ข่าย แล้วโปรแกรมลูกข่ายจะส่งข้อมูลของตัวเอง ไปลงทะเบียนกับคอมพิวเตอร์แม่ข่าย ทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบจำนวนผู้ใช้งานได้ง่าย

          ผลการทดสอบพบว่าระบบสามารถทำงานได้ตามความคาดหมาย แต่ยังไม่ได้ทดสอบประสิทธิภาพและความเชื่อถือได้ในขั้นการพัฒนาเชิงพาณิชย์ การวิจัยพัฒนาในระยะต่อไป จะมีจุดมุ่งหมายให้ระบบทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพขึ้น รองรับจำนวนรถสวัสดิการที่มากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น และให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น


 

วชิระ จงบุรี และคณะ
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์