w
การจัดการโรคพืชโดยเทคโนโลยีชีวภาพ
Plant Disease Management by Biotechnology

การใช้จุลินทรีย์ชีวภาพในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของพริก
           พริก (Chili, Pepper) เป็นพืชเศรษกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย ในแต่ละปีมีความต้องการผลผลิตเป็นปริมาณมากทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ แหล่งปลูกพริกที่สำคัญได้แก่ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครปฐม และ ราชบุรี รวมพื้นที่ประมาณ 490,000 ไร่ โรคแอนแทรคโนสเป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งของพริก ที่ทำความเสียหายให้กับพริกทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว โรคนี้เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อรา คอแลทโตตริคัม โกอีโอสปอริออยเดส (Colletotrichum gloeosporioides, Cg) และ คอแลทโตตริคัม แคปซิไซ (Colletotrichum capsici, Cc) จะพบระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน ทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพและเสียหายถ้าหากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยปกติทั่วไปเกษตรกรจะทำการควบคุมโรคด้วยการใช้สารเคมีกำจัดเชื้อราชนิดต่างๆ เนื่องจากใช้สะดวกและให้ผลรวดเร็วแต่อาจจะทำให้เกิดการตกค้างของสารเคมีถ้าใช้บ่อยครั้งและในอัตราที่มากเกินไปหรือใช้ในช่วงใกล้การเก็บเกี่ยวผลผลิต ในปัจจุบันผู้บริโภคมีความเอาใจใส่ต่อสุขภาพมากขึ้นทำให้มีความต้องการพืชผักที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพไม่มีสารเคมีตกค้าง จุลินทรีย์ชีวภาพเป็นอีกทางเลือกที่นำมาใช้ทดแทนการใช้สารเคมีต่างๆในการควบคุมโรคพืช โดยการวิจัยที่นำจุลินทรีย์ชีวภาพ (Biocontrol agent) เช่นเชื้อราและ/หรือเชื้อแบคทีเรียมาใช้ในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสในห้องปฏิบัติการและในสภาพแปลงปลูกของเกษตรกรเปรียบเทียบกับสารเคมีเช่นคาเบนดาซิม (Carbendazim, carben) เชื้อแบคทีเรีย บาซิลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis, Bs) 2 สายพันธุ์ และ ซูโดโมนาส ฟูออเรสเซนส์ (Pseudomonas fluorescens) 2 สายพันธุ์ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Cc (84–95%) ได้ดีกว่า Cg (69–77%) ส่วนเชื้อรา ไตรโคเดอมา ฮาเซียนัม (Trichoderma harzianum, Th) สายพันธุ์ CB-Pin01 สามารถเจริญครอบคลุมและยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Cg และ Cc ได้ดีเมื่อทดลองภายในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้เชื้อ Bs สายพันธุ์ CH6 และเชื้อ Th สายพันธุ์ CB-Pin01 สามารถลดการเกิดโรคบนผลพริกที่ปลูกด้วยเชื้อ Cg และ Cc ได้ดีเทียบเท่ากับ carben (ภาพที่ 1) ต่อมาได้ทำการทดลองในแปลงปลูกพริกของเกษตรกรโดยแบ่งการทดลองเป็นดังนี้ เชื้อ Bs, Th, Bs ผสมกับ Th, carben และน้ำ (C) วางแผนการทดลองแบบสุ่มอย่างสมบูรณ์ทำทั้งหมด 3 ซ้ำ ผลการทดลองปรากฏว่า การใช้เชื้อ Bs, Th, Bs ผสมกับ Th สามารถควบคุมโรคแอนแทรคโนสได้และดีกว่าชุดควบคุมและใกล้เคียงกับสารเคมี Carbendazim (ภาพที่ 2) จากการทดลองข้างต้นสามารถสรุปได้ว่าจุลินทรีย์ชีวภาพมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของพริกได้ดี



ภาพที่1 การทดสอบจุลินทรีย์ชีวภาพ ในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสบนพริกที่ทำการปลูกเชื้อ Cc
ก่อนการใช้จุลินทรีย์ 12 ชม. (A) และหลังการใช้จุลินทรีย์ 12 ชม. (B)


ภาพที่2  เปอร์เซ็นต์การเกิดโรคแอนแทรคโนสพริกเมื่อใช้จุลินทรีย์ชีวภาพควบคุมโรคในแปลงปลูกเกษตรกร
โดยมีสารเคมี Carbendazim ลดการเกิดโรคได้ดีที่สุด รองลงมาคือเชื้อรา Trichoderma และชุดควบคุม (น้ำ)
เกิดโรคมากที่สุด

การใช้จุลินทรีย์ชีวภาพในการควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศ
           มะเขือเทศ (Tomato) เป็นพืชที่นิยมปลูกมากแทบทุกประเทศ เนื่องจากเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่ โดยเฉพาะวิตามินเอและวิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัสตลอดจนโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต โรคเหี่ยวของมะเขือเทศซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ราลสโตเนีย โซลานาซีเอรัม (Ralstonia solanacearum , RS) เป็นโรคที่สำคัญที่เข้าทำลายพืชในวงศ์ โซลานาซิอี (Solanaceae) และพืชอื่นๆอีกหลายร้อยชนิด มะเขือเทศที่เป็นโรคนี้จะตายหรือมีผลผลิตที่ได้คุณภาพและปริมาณที่ลดลง การควบคุมและการจัดการ เชื้อ RS จะทำได้ยากเนื่องจากเชื้อนี้อาศัยอยู่ในดินและสารเคมีที่ใช้ในการควบคุมและป้องกันมักไม่ได้ผล ดังนั้นจึงใช้วิธีอื่นลดปริมาณเชื้อโรคที่อยู่ในดินซึ่งเป็นวิธีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ โดยปกติการปลูกพืชของเกษตรกรจะมีการปลูกพืชชนิดเดิม ที่เดิมซ้ำๆ จึงทำให้เกิดโรคเหี่ยวนี้อยู่ตลอดทั้งปี การจัดการจึงควรเว้นช่วงปลูกหรือมีการปลูกพืชหมุนเวียนเป็นพืชชนิดอื่นเพื่อลดการเข้าทำลายของเชื้อ นอกจากนี้ได้มีการนำจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เชื้อ บาซิลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis , Bs) สายพันธุ์ CH4 สารสกัดจากมะแข่วนหรือชวงเจี่ย(Cc) และ ซิลิกอนในรูป ซาลิซิค แอซิด(Si1) และโซเดียม ซิลิเคต (Si2) มาใช้ในการควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศ โดยแบ่งการทดลองเป็น 9 กรรมวิธีโดยใส่กรรมวิธีต่างๆ 1 วันก่อนปลูกเชื้อ RS และหลังปลูกเชื้อ RS 1 วัน ทุกสัปดาห์ 8 ครั้งติดต่อกัน วางแผนการทดลองแบบสุ่มอย่างสมบูรณ์ทำทั้งหมด 3 ซ้ำ ผลการทดลอง ( ภาพที่ 3) ปรากฏว่าการใส่เชื้อ Bs ผสม Si1 (กรรมวิธีที่ 5 )สามารถควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศได้ดี (77%) เมื่อเปรียบเทียบกับไม่ควบคุมโรค(กรรมวิธีที่ 1) และปริมาณจำนวนประชากรของเชื้อลดลงในทุกๆสัปดาห์นอกจากนี้ผลผลิตที่ได้ก็มีปริมาณและคุณภาพดีไม่แตกต่างจากกรรมวิธีควบคุม จากการทดลองข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าจุลินทรีย์ชีวภาพที่ผสมกับซิลิกอนในรูป ซาลิซิค แอซิดมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศได้ดี



ภาพที่3 แสดงเปอร์เซ็นต์การรอดตายของมะเขือเทศเนื่องจากการใช้จุลินทรีย์ชีวภาพควบคุมโรค
ในโรงเรือนทดลอง โดยกรรมวิธีที่ 5 ให้ % การรอดตายสูงที่สุด(88.88%) และกรรมวิธีที่ 1
ไม่ควบคุมโรคให้ % รอดตายต่ำสุด (11.11%)

   
ภาพที่4   ต้นมะเขือเทศที่แสดงอาการเหี่ยว สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ราลสโตเนีย โซลานาซีเอรัม (Ralstonia solanacearum) โดยแสดงอาการใบเหี่ยวลู่ลงเหมือนอาการขาดน้ำ แต่ใบยังคงมีสีเขียว(ซ้าย) และต้นมะเขือเทศปกติ (ขวา)

นิพนธ์ ทวีชัย  อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช  ไก่แก้ว สุธรรมมา  และ จิตรยา จารุจิตร์
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-0113 ต่อ 1296