ผลของการนวดแบบไทยประยุกต์ร่วมกับการฝึกพลัยโอเมตริกที่มีต่อ
ความสามารถในการกระโดดของนักวอลเลย์บอลหญิง
The Effects of Modified Thai Traditional Massage Combined with Plyometric Training
on Jumping Ability of Female Volleyball Players

           การฝึกซ้อมเป็นกิจกรรมที่นักกีฬาต้องปฏิบัติเพื่อพัฒนาความสามารถให้สูงขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายคือชัยชนะจากการแข่งขัน การฝึกพลัยโอเมตริกเป็นรูปแบบการฝึกหนึ่งที่เหมาะสำหรับใช้พัฒนากำลังของนักกีฬาได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น กำลังที่ใช้ในการกระโดดในนักกีฬาวอลเลย์บอล แต่ผลกระทบจากการฝึกรูปแบบนี้มักทำให้นักกีฬาเกิดความปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อมีความตึงตัวมาก หากนักกีฬายังคงฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยไม่มีการปล่อยให้ร่างกายฟื้นตัวอย่างเพียงพอ จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรหาวิธีการที่จะช่วยให้นักกีฬาฟื้นตัวกลับคืนสภาพได้รวดเร็วขึ้น วิธีการช่วยให้ฟื้นตัวนี้มีหลายวิธี การนวดเป็นวิธีหนึ่งที่เชื่อว่าจะช่วยให้นักกีฬาฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยการนวดมีผลเชิงกลในการไล่เลือดดำและช่วยให้เกิดการหลั่งสารที่ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น เป็นผลให้มีการกำจัดของเสียได้เพิ่มขึ้น ลดอาการบวม ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และฟื้นตัวจากการบาดเจ็บได้เร็วขึ้น และสามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นได้ดีขึ้น (ชูศักดิ์และกันยา, 2536) ในปัจจุบันการนวดแบบไทยประยุกต์ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของไทยกำลังเป็นที่นิยมในสังคมไทย ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะทำการศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการกระโดดในช่วงระยะเวลา 8 สัปดาห์ ที่นักกีฬาวอลเลย์บอลได้รับการนวดแบบไทยประยุกต์ หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกพลัยโอเมตริกในแต่ละวัน

กลุ่มทดลองและวิธีการทดลอง

กลุ่มทดลอง เป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันระดับเยาวชนแห่งชาติ ถึงระดับเยาวชนทีมชาติไทยของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อายุ 14 - 18 ปี
           กลุ่มที่ 1 ฝึกตามโปรแกรมวอลเลย์บอล
           กลุ่มที่ 2 ฝึกตามโปรแกรมพลัยโอเมตริก
           กลุ่มที่ 3 ฝึกตามโปรแกรมพลัยโอเมตริกร่วมกับการนวดแบบไทยประยุกต์

                โปรแกมการฝึกพลัยโอเมตริก ทำการฝึก 8 สัปดาห์ๆ ละ 2 วัน โดยก่อนและหลังการฝึกทำการอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ 10 นาที โดยมีท่าฝึกพลัยโอเมตริก ดังนี้
               สัปดาห์ที่ 1–4: Rocket Jump, Star Jump, Split Jump, Knee - Tuck Jump และ Alternate Leg Diagonal Bound ปฏิบัติ 8-10 ครั้ง /เซต 3 เซต พักระหว่างเซต 3 นาที พักระหว่างท่าฝึก 5 นาที
               สัปดาห์ที่ 5–8: Side Hop, Stride Jump Crossover, Depth Jump, Quick Leap และ Depth Jump Leap ปฏิบัติ 6-8 ครั้ง /เซต 3 เซต พักระหว่างเซต 3 นาที พักระหว่างท่าฝึก 5 นาที
               การนวดแบบไทยประยุกต์ นวดตามวิธีในคู่มือการนวดไทยในการสาธารณสุขมูลฐาน (โครงการฟื้นฟูการนวดไทย, มปป) ผสมผสานกับวิธีการนวดแบบกายภาพบำบัด แบบจีนประยุกต์ แบบไทย และการนวดสำหรับนักกีฬา (มานพ, 2540) ด้วยเทคนิคการลูบแบบลึก และการคลึงแบบลึก โดยใช้โลชั่นและน้ำ มีลำดับการนวดดังนี้

               1. นวดบริเวณต้นคอ บ่า หัวไหล่ และหลังส่วนบน เป็นเวลา 5 นาที
               2. นวดตามแนวกระดูกสันหลังถึงสะโพก เป็นเวลา 5 นาที
               3. นวดบริเวณขา ตั้งแต่ต้นขาถึงข้อเท้าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ข้างละ 5 นาที

                    การวัดความสามารถในการกระโดด วัดความสามารถในการกระโดดทุกวัน ภายหลังการอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ 10 นาที โดยให้ผู้เข้ารับการทดสอบยืนตรง ยกแขนข้างที่ถนัดขึ้นเหนือศีรษะให้สูงที่สุด จากนั้นย่อเข่าแล้วกระโดดขึ้นให้สูงที่สุด บันทึก ค่าที่กระโดดได้ลบกับความสูงที่ยืนยกแขน

                    ผลการวิจัยพบว่า ความสามารถในการกระโดด ของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่ม สูงขึ้นกว่าก่อนการฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ทั้งในช่วง 4 และ8 สัปดาห์ภายหลังการฝึก แต่ไม่พบความแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม ในขณะที่หากสังเกตแนวโน้มของพัฒนาการพบว่ากลุ่มที่ได้รับการนวดแบบไทยประยุกต์มีพัฒนาการสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอกว่ากลุ่มอื่น แสดงให้เห็นว่า การนวดแบบไทยประยุกต์ร่วมกับโปรแกรมการฝึกพลัยโอเมตริก เป็นวิธีการหนึ่งที่จะนำมาใช้เพื่อพัฒนาความ สามารถในการกระโดดในนักกีฬาวอลเลย์บอลให้ดียิ่งขึ้นได้




 

ภัสรา อัครพันธุ์1ราตรี เรืองไทย1 สมศักดิ์ โตสกุล2 และ สิริกาญจน์ สันติเสวี3
1คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
2คณะศึกษาศาสตร์
3การกีฬาแห่งประเทศไทย โทร. 0-8153-04300