การสร้างแบบวัดแรงจูงใจในการออกกำลังกายเพื่อนันทนาการ
A Construction of Recreational Exercise Motivation Measure (REMM)

           แผนพัฒนากีฬาแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2531 – พ.ศ.2549) และ ยุทธศาสตร์ 4 ปี สร้างกีฬาชาติ ซึ่งได้ประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ กันยายน 2547 ได้มีเป้าหมายหลักของการพัฒนาอย่างชัดเจนใน 6 แผนงานหลักคือ แผนพัฒนากีฬาขั้นพื้นฐาน แผนพัฒนากีฬาเพื่อมวลชน แผนพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ แผนพัฒนากีฬาเพื่ออาชีพ แผนพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การกีฬา และแผนพัฒนาการบริหารจัดการทางการกีฬา (การกีฬาแห่งประเทศไทย, 2547) ตลอดระยะเวลาของการนำแผนสู่การปฏิบัติ ผลจากการประเมินแผนงานทั้ง 6 แผนหลัก ทำให้ทราบว่า ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนพัฒนากีฬาเพื่อมวลชน หรือแผนพัฒนากีฬาเพื่อสุขภาพ ในเป้าหมายของการเพิ่มจำนวน ของคนไทยทุกเพศและทุกวัยในการออกกำลังกาย ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายในปี พ.ศ. 2549 คนไทยจะออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ 60% แต่จากผลการสำรวจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 พบว่าคนไทยทุกเพศทุกวัยมีการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอเพียง 30.45% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ได้วางไว้อยู่มาก ด้วยเหตุดังกล่าวผู้วิจัยจึงมีความประสงค์จะสร้างแบบวัดแรงจูงใจในการออกกำลังกายเพื่อนันทนาการขึ้น เพื่อจะได้ใช้แบบวัดดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการสำรวจแรงจูงใจในการออกกำลังกาย และนำข้อมูลมาเป็นพื้นฐานในการวางนโยบายตลอดจนสร้างแนวทางการปฏิบัติเพื่อสร้างทัศนคติและความรักในการออกกำลังกายเพื่อจะไปสู่เป้าหมายของการเพิ่มจำนวนผู้ออกกำลังกายตามแผนพัฒนากีฬาชาติต่อไป

           การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้สร้างแบบวัดโดยยึดกรอบแนวความคิดที่เกี่ยวกับแรงจูงใจในการออกกำลังกายเพื่อนันทนาการออกเป็น 8 ด้าน จำนวนทั้งสิ้น 73 ข้อ ดังนี้คือ

  1. ต้องการมีทักษะการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง (10 ข้อ) (Morris , 1995)
  2. ต้องการมีสภาวะทางกายที่ดี (8 ข้อ)
  3. ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (8 ข้อ)
  4. ต้องการมีสภาวะทางจิตที่ดี (9 ข้อ)
  5. ต้องการมีรูปร่างทรวดทรงที่ดี (9 ข้อ)
  6. ต้องการให้เป็นไปตามความคาดหวังของผู้อื่น (8 ข้อ)
  7. ต้องการความสนุกสนาน เพลิดเพลิน (8 ข้อ)
  8. ต้องการการแข่งขันกับผู้อื่น (13 ข้อ)

             ผู้วิจัยได้ใช้ Translation and Back Translation Techniques โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญ 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ และมีความเชี่ยวชาญในสาขาจิตวิทยาการกีฬาและการออกกำลังกาย เน้นทางด้านแรงจูงใจ จำนวน 6 คน เพื่อตรวจสอบความแม่นตรงเชิงเนื้อหา และได้นำแบบวัดดังกล่าวไปหาค่าความเชื่อมั่นได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดทั้งฉบับเป็น 0.918 แบบวัดแรงจูงใจในการออกกำลังกายเพื่อนันทนาการจะเป็นแบบวัดที่ใช้อัตราวส่วนประมาณค่า (rating scale) เป็น 5 ระดับ คือ มีแรงจูงใจน้อยที่สุด (1) มีแรงจูงใจน้อย (2) มีแรงจูงใจปานกลาง (3) มีแรงจูงใจมาก (4) และมีแรงจูงใจมากที่สุด (5) สำหรับการให้คะแนนและการแปรผลนั้นก็จะเป็นไปตามข้อกำหนดของการใช้แบบวัดดังกล่าว

 

สุพิตร สมาหิโต
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 0-2942–8675, 0-2942–8770