การสร้างแบบวัดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองในการออกกำลังกาย
A Construction of Self-Esteems Measure in Exercise

           ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ย่อมมีปัญหา อุปสรรคเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเผชิญปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยดี สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บุคคลนั้นต้องมีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง มีเกียรติ มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ปรับตัวได้ดี มีความวิตกกังวลต่ำ คนที่มีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองสูงมีแนวโน้มที่จะแสดงความสามารถทางการเรียน การทำงานหรือการเล่นกีฬาสูงตามไปด้วยจึงจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ดี เรื่องของการออกกำลังกายก็เช่นกัน ถ้าบุคคลมีความรู้สึกเห็นคุณค่าในทางบวกก็ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง มีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลเข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองในการออกกำลังกาย มีองค์ประกอบที่สำคัญคือเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง (self perception) และความเชื่อมั่นในตนเอง (self – confidence) ตามแนวคิดของHarter (อ้างใน สืบสาย, 2541) บุคคลแต่ละคนย่อมมีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองในระดับสูงหรือต่ำต่างกันหรือไม่อย่างไร เป็นสิ่งที่นักวิชาการได้พยายามศึกษาค้นคว้าหาทางสร้างแบบวัดออกมาซึ่ง Coppersmith (1984) ได้สร้างแบบวัดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนขึ้นเป็นต้น ดังนั้นผู้วิจัย จึงได้คิดสร้างแบบวัดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองในการออกกำลังกายขึ้น เนื่องจากปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีแบบวัดดังกล่าว จึงยังไม่สามารถจะบ่งบอกได้ว่าบุคคลที่ออกกำลังกายมีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองอยู่ในระดับใด และส่งผลให้เกิดแรงจูงใจเข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกายหรือไม่

         ผู้วิจัยได้สร้างข้อคำถามที่ครอบคลุมการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง ด้านความสามารถทางกาย (physical competence) และการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง ด้านความเชื่อมั่น (self confidence) จำนวนรวม 48 ข้อ นำข้อคำถามให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาการกีฬาตรวจสอบ ปรับปรุงข้อคำถามตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและคำนวณหาค่าดัชนีความสอดคล้อง ตามวิธีการทาง Rowinelli and Hambleton (อ้างในพิชิต, 2547)และตรวจสอบความแม่นตรงเชิงโครงสร้าง ได้ข้อคำถามที่มีคุณภาพจำนวน 33 ข้อ นำแบบวัดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองไปทดลองใช้ (try out) เพื่อตรวจสอบเนื้อหาสาระความเข้าใจ ความเหมาะสมในการใช้ภาษา และหาค่าอำนาจจำแนกตามวิธีการของ Edwards (อ้างในล้วนและอังคณา, 2543) รวมทั้งหาความเชื่อมั่นแบบวัดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองในการออกกำลังกายทั้งฉบับมีค่าเท่ากับ 0.92 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของการวัดเท่ากับ ? 4.83 จากผลการศึกษาครั้งนี้ ทำให้ได้แบบวัดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองในการออกกำลังกาย ที่มีคุณภาพอยู่ในระดับสูง และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการต่อไป

 

สมบัติ ยนต์วิสูตร และ สุพิตร สมาหิโต
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2942-8675 , 0-2942-8770