การบาดเจ็บจากการกีฬาเป็นปัญหาสำคัญยิ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะการบาดเจ็บของนักกีฬาซึ่งเป็นความหวังของทีมหรือนักกีฬาอาชีพ
จากสถิติพบว่าการบาดเจ็บที่บริเวณข้อเข่านั้นมีอุบัติการณ์ที่เกิดการบาดเจ็บสูงมาก
โดยเฉพาะบริเวณเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าในนักกีฬาฟุตบอล ซึ่งปัจจุบันเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูง
การรักษาของแพทย์ในปัจจุบันถ้าไม่ผ่าตัดจะแนะนำให้สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขา
แต่ในรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดแพทย์นิยมใช้วิธีผ่าตัด 2 วิธีคือวิธีแรกนำเอ็นที่1/3กึ่งกลางลูกสะบ้ามาใช้ทดแทนเอ็นที่ขาด
อีกวิธีคือการนำเอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังมาทดแทน
การรักษาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดนั้นมีความหลากหลายซึ่งแต่ละวิธีนั้นจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันจึงจำเป็นต้องมีขั้นตอน
วิธีการฟื้นฟูที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยลดปัญหา การบาดเจ็บเรื้อรัง และการบาดเจ็บซ้ำซ้อน
จากการศึกษาค้นคว้างานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า การออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อในน้ำช่วยลดการอักเสบบวมรวมถึงหน้าที่การทำงานของข้อต่อดีกว่าการฟื้นฟูบนบกภายหลังการผ่าตัด
8 สัปดาห์ ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะนำการฟื้นฟูด้วยการออกกำลังกายในน้ำ
ในการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะแรก หลังจากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดแล้ว 2 วัน
ซึ่งผู้ป่วยยังไม่สามารถลงน้ำหนักได้เต็มที่
ดังนั้นการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลการฟื้นฟูสภาพหลังผ่าตัดซ่อมสร้างเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า
ที่มีต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขา มุมการเคลื่อนไหวของข้อเข่า
ระดับความเจ็บปวด เส้นรอบวงของข้อเข่าระหว่างการออกกำลังกายในน้ำลึก
กับการออกกำลังกายเพื่อการรักษาโดยทั่วไปภายหลังการผ่าตัด 2 สัปดาห์
กลุ่มตัวอย่างคือผู้บาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด จำนวน 20 คน
ซึ่งได้มาจากการอาสาสมัคร แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มโดยการจัดเข้ากลุ่มอย่างง่าย
กลุ่มละ 10 คน กลุ่มที่ 1 ให้โปรแกรมการออกกำลังกายในน้ำลึก กลุ่มที่
2 ให้โปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อการรักษาทั่วไป 3 วันต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา
2 สัปดาห์ วัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริก วัดมุมการเคลื่อนไหวของข้อเข่า
วัดระดับความปวด และวัดเส้นรอบวงข้อเข่า ก่อนการผ่าตัดและภายหลังการผ่าตัด
2 สัปดาห์
ผลการวิจัยพบว่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาท่าเหยียดและท่างอ มุมการเคลื่อนไหวท่างอข้อเข่า
และ เส้นรอบวงของข้อเข่า ก่อนและภายหลังการผ่าตัด 2 สัปดาห์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ
.05 ทั้งสองกลุ่ม และจากการเปรียบเทียบผลการออกกำลังกายระหว่างกลุ่มการออกกำลังกายในน้ำลึก
และ การออกกำลังกายเพื่อการรักษาทั่วไป พบว่า มุมการเคลื่อนไหวท่าเหยียดและงอข้อเข่า
และระดับความเจ็บปวด แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ภายหลังการผ่าตัด 2 สัปดาห์ ผลการวิจัยครั้งนี้สรุปได้ว่าการออกกำลังกายในน้ำจะช่วยเพิ่มมุมการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย
และลดระดับความเจ็บปวดของข้อเข่าภายหลังการผ่าตัด 2 สัปดาห์ ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดซ่อมสร้างเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าระยะเฉียบพลัน
ตัวอย่างท่าการออกกำลังกายในน้ำลึก
สำหรับการฟื้นฟูสภาพหลังผ่าตัดซ่อมสร้างเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าระยะเฉียบพลัน

หมายเหตุ การออกกำลังกายในน้ำลึกควรเลือกสระที่มีระดับน้ำลึกโดยที่เมื่อลอยตัวอยู่บนอุปกรณ์
(โฟมเส้น ช่วยลอยตัว)แล้วเท้าไม่แตะพื้น
|