การพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม สมาธิสั้น และบกพร่องทางการเรียนรู้
Potential Development for Students with Autism, Attention Deficit Hyperactivity Disorders and Learning Disorder.

วัตถุประสงค์การวิจัยของโครงการ
          การวิจัยครั้งนี้ เป็นการดำเนินการวิจัยระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการและเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานสำหรับการคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม

วขอบเขตการวิจัย
          การวิจัยครั้งนี้มุ่งพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 อายุระหว่าง 6-13 ปี 11 เดือน โดยในระยะที่ 1 มุ่งเน้น การพัฒนาแบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม ตรวจสอบคุณภาพของแบบคัดกรองด้านความตรงตามเนื้อหา ความตรงตามทฤษฎี ความเที่ยงแบบความสอดคล้องภายใน และสร้างเกณฑ์ปกติในการแปลความหมายของคะแนน รวมถึงศึกษาประสิทธิภาพของเกณฑ์ปกติที่สร้างขึ้น

สรุปผลการวิจัย
          การดำเนินการวิจัยระยะที่ 1 นี้ได้สร้างแบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 อายุระหว่าง 6 – 13 ปี 11 เดือน ขึ้น เพื่อใช้ในการคัดกรองนักเรียน 5 กลุ่มอาการ ได้แก่ กลุ่มอาการภาวะสมาธิสั้น ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการเขียน ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการคิดคำนวณ และภาวะออทิซึม รวมมีข้อความที่บ่งบอกพฤติกรรม 130 ข้อความ แบบคัดกรองฉบับนี้มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่าของลิเคิร์ท (Likert Scale) แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ไม่เคยแสดงพฤติกรรมนี้เลย แสดงพฤติกรรมนี้เล็กน้อย แสดงพฤติกรรมนี้ค่อนข้างมาก และแสดงพฤติกรรมนี้บ่อยมาก จากการวิจัยครั้งนี้สรุปผลการวิจัยได้ ดังนี้

    1. ความตรงตามเนื้อหา (Content Validity)
                 ข้อความที่บ่งบอกพฤติกรรมสอดคล้องกับโครงสร้างของการสร้างแบบคัดกรอง ครอบคลุมพฤติกรรมตามคำจำกัดความ และเกณฑ์การวินิจฉัย และเกณฑ์การประเมินพฤติกรรมนักเรียนมีความชัดเจนในการสื่อความหมายหลังจากได้ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึมฉบับนี้จึงมีความตรงตามเนื้อหา จากการวิเคราะห์ด้วยวิธีเชิงเหตุผล โดยอาศัยดุลยพินิจของผู้เชี่ยวชาญจำนวน 23 ท่าน

    2. ความตรงตามทฤษฎี (Construct Validity) ด้วยวิธีการหาค่าอำนาจจำแนก (Discriminant Power)
                ข้อความที่บ่งบอกพฤติกรรมทุกข้อในแต่ละกลุ่มอาการที่มุ่งวัดจำแนกความแตกต่างของนักเรียนปกติกับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ดังนั้น แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึมฉบับนี้จึงมีคุณภาพดีมากในด้านความตรงตามทฤษฎี จากวิธีการวิเคราะห์ค่าอำนาจจำแนก

    3. ความตรงตามทฤษฎี (Construct Validity) ด้วยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) แบบ Maximum Likelihood โดยวิธีหมุนแกนแบบ Varimax Rotation
                ข้อความที่บ่งบอกพฤติกรรมทุกข้อในแต่ละกลุ่มอาการที่มุ่งวัดสามารถวัดได้ตรงตามทฤษฎีที่กลุ่มอาการนั้นมุ่งวัดจริง โดยค่า Factor Loading ของกลุ่มอาการภาวะสมาธิสั้น มีค่าตั้งแต่ 0.687 ขึ้นไป บกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน มีค่าตั้งแต่ 0.782 ขึ้นไป บกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการเขียน มีค่าตั้งแต่ 0.660 ขึ้นไป บกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการคิดคำนวณ มีค่าตั้งแต่ 0.687 ขึ้นไป และออทิซึม มีค่าตั้งแต่ 0.420 ขึ้นไป ดังนั้น แบบคัดกรอง นักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึมฉบับนี้จึงมีคุณภาพดีมากในด้านความตรงตามทฤษฎี ด้วยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบ แบบ Maximum Likelihood โดยวิธีหมุนแกนแบบ Varimax Rotation

    4. ความเที่ยงแบบความสอดคล้องภายใน (Internal Consistency Reliability)
                ก่อนนำแบบคัดกรองไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างมาตรฐาน ค่าความเที่ยงจากการทดลองใช้กับนักเรียนปกติ มีค่าระหว่าง 0.93 – 0.97 และนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ มีค่าระหว่าง 0.91 – 0.96 และหลังจากนำไปใช้กับกลุ่ม ตัวอย่างมาตรฐาน มีค่าความเที่ยงระหว่าง 0.97 – 0.98 ดังนั้น แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึมฉบับนี้จึงมีคุณภาพดีมากในด้านความเที่ยงแบบสอดคล้องภายใน

    5. ผลการสร้างเกณฑ์ปกติของแบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม
                จากการนำแบบคัดกรองนักเรียนที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักเรียนกลุ่มตัวอย่างมาตรฐาน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวนทั้งสิ้น 4,848 คน เพื่อสร้างเกณฑ์ปกติสำหรับใช้ใน การแปลความหมายของคะแนนที่ได้จากแบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม ด้วยการแปลงคะแนนดิบจากแต่ละกลุ่มอาการที่มุ่งวัดจากกลุ่มตัวอย่างมาตรฐานให้อยู่ในรูปคะแนนที ซึ่งผลการสร้างเกณฑ์ปกติ พบว่า คะแนนทีของกลุ่มอาการภาวะสมาธิสั้น มีค่าระหว่าง T 35 – T 94 บกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน มีค่าระหว่าง T 37 – T 88 บกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการเขียน มีค่าระหว่าง T 38 – T 96 และบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการคิดคำนวณ มีค่าระหว่าง T 36 – T 92 และออทิซึม มีค่าระหว่าง T 41 – T 100

ดารณี อุทัยรัตนกิจ1  ชาญวิทย์ พรนภดล2  วัจนินทร์ โรหิตสุข2  นิรมล ยสินทร2  และ สุพัตรา วงศ์วิเศษ แอนดราดี3
1ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษ “คุณพุ่ม”
2 สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
3ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-942-8200-45 ต่อ 1729