การติดตามความเป็นเมืองในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน
กลุ่มที่ 1 : นนทบุรี ปทุมธานี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา
Monitoring the Changes of Land Uses and Land Development in the Upper Central Provinces
Group 1 : Nontha Buri, Pathumthani, Ang Thong , Pra Nakorn Sri Ayudthaya

1.วัตถุประสงค์

           เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและพื้นที่พัฒนาในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบนกลุ่มที่1: นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง ในประเด็นต่อไปนี้


1.1 สภาพสิ่งปกคลุมดินในปี 2532 2542 และ 2547
1.2 การใช้ที่ดิน ในปี 2532 2542 และ 2547
1.3 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาในช่วง 10 ปี 5 ปี และ 15 ปี
1.4 อัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนา ในช่วง 10 ปี 5 ปี และ 15 ปี

2. วิธีการวิจัย

                2.1 อุปกรณ์และเครื่องมือ ประกอบด้วยภาพถ่ายดาวเทียม Landsat 5 ระบบ UTM มาตราส่วน 1:50,000 ปี 2532 2542 และ 2547 ครอบคลุมจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอ่างทอง โปรแกรมวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม โปรแกรมระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เครื่องสำรวจพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียม (GPS) ระบบคอมพิวเตอร์ เทคนิคการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมใช้ supervised classification การวิเคราะห์ด้วย GIS ใช้ เทคนิคการจัดกลุ่มด้วย individual และ natural break
                2.2 ขั้นตอนการวิจัย ประกอบด้วย

  1. จัดซื้อข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม
  2. ปรับแก้ให้ภาพมีความถูกต้องตามระบบ UTM และ datum 1975
  3. กำหนด Training area จากการสำรวจภาคสนามและจากงานวิจัยที่เคยทำมาแล้ว
  4. แบ่งกลุ่มการใช้ที่ดินภาพถ่ายดาวเทียม แบนด์ 4 5 3- แดง เขียว น้ำเงิน ด้วยข้อมูล Training area ที่กำหนดให้ ได้ 11 ประเภทคือ 1) นาเกี่ยวแล้ว 2) นาพร้อมเกี่ยว 3) นา 4) พืชไร่ 5) สวนผลไม้ 6) สวนส้ม 7) พื้นที่เตรียมนา 8) พื้นที่โล่ง 9) บ่อน้ำ 10) แม่น้ำ 11) พื้นที่เมืองหรือพื้นที่พัฒนา ข้อมูลการใช้ที่ดินเหล่านี้ยังอยู่ในรูปของ Raster
  5. แปลงข้อมูลการใช้ที่ดินที่อยู่ในรูปของ Raster ให้เป็น Vector
  6. ปรับประเภทการใช้ที่ดินให้เหลือ 4 ประเภท คือ เกษตรกรรม ที่โล่ง เมือง แหล่งน้ำ เพื่อเน้นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาหรือเมือง
  7. วิเคราะห์การใช้ที่ดินในส่วนของพื้นที่พัฒนา ศึกษาการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาในช่วง 10 ปี (2532-2542) 5 ปี (2542-2547) และ 15 ปี (2532-2547) อัตราการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาต่อพื้นที่ตำบล อัตราการเปลี่ยน แปลงพื้นที่พัฒนาต่อพื้นที่พัฒนาปีสุดท้ายของช่วงการเปลี่ยนแปลง


3. ผลการวิเคราะห์

  1. สภาพสิ่งปกคลุมดิน ในปี 2532 2542 และ 2547
    จากการเลือกใช้ข้อมูล Raster ของ Band 3-2-1 แดง เขียว น้ำเงิน ทำให้เห็นสิ่งปกคลุมที่เป็นเส้นทางคมนาคมและพื้นที่พัฒนาชัดเจน พบว่าในปี 2532 และปี 2542 มีการขยายตัวพื้นที่พัฒนาไปตามเส้นทางคมนาคมและแม่น้ำ ซึ่งได้แก่ พื้นที่บริเวณตอนกลางของปทุมธานีที่ติดเขตดอนเมืองและตะวัน ออกของนนทบุรีที่ติดกับกรุงเทพฯ ทิศทางการขยายตัวพื้นที่เมืองเริ่มที่บริเวณทางใต้ของกลุ่มจังหวัด ขึ้นไปทางเหนือ ในปี 2547 จะเห็นพื้นที่พัฒนากระจายทั้งตอนใต้และตอนเหนือ ซึ่งเป็นเขตอำเภอผักไห่และอำเภอบางบาลของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  2. การใช้ที่ดิน ในปี 2532 2542 และ 2547
    เมื่อแบ่งการจัดกลุ่มการใช้ที่ดินเหลือเพียง 4 ประเภท คือ พื้นที่การเกษตร พื้นที่โล่ง แหล่งน้ำ และพื้นที่เมืองหรือพื้นที่พัฒนา พบว่าพื้นที่เมืองในปี 2532 (1989) มีประมาณ 172.54 ตร.กม. คิดเป็น 4.16 % ของพื้นที่กลุ่ม 4 จังหวัดในภาคกลางตอนบน โดยมีการกระจายเชิงพื้นที่อยู่บริเวณทางใต้ของกลุ่มจังหวัด ซึ่งได้แก่บริเวณอำเภอเมืองนนทบุรี และบริเวณตอนกลางทางใต้ของปทุมธานี ขณะที่พื้นที่เกษตรและพื้นที่โล่งรวมกันคิดเป็น 91.58% กระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่เมืองในปี 2542 (1999) มีทั้งหมด 371.49 ตร.กม. คิดเป็น 7.31 % ของพื้นที่กลุ่มจังหวัด ขณะที่พื้นที่เกษตรและพื้นที่โล่งรวมกันยังคงใกล้เคียงกับปี 2532 คือประมาณ 91.01% ของพื้นที่กลุ่มจังหวัด สำหรับปี 2547 (2004) พื้นที่เมืองมีประมาณ 1,503 ตร.กม. คิดเป็น 30.54 % ของพื้นที่กลุ่มจังหวัด มีการกระจายเชิงพื้นที่อยู่บริเวณอำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล และอำเภอบางไทรของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตอนกลางของอำเภอคลองหลวง ธัญบุรี และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี อำเภอเมืองและอำเภอบางบัวทองของจังหวัดนนทบุรี ถ้าพิจารณาเฉพาะปี 2547 สัดส่วนของพื้นที่เมืองต่อพื้นที่ของจังหวัดเรียงจากสูงไปน้อยดังนี้ นนทบุรี (45%) อ่างทอง (36%) พระนครศรีอยุธยา (24%) และปทุมธานี (18%) พบว่าพื้นที่เมือง/พัฒนาในจังหวัดอ่างทองและนนทบุรีมีการกระจายเกือบทั่วทั้งจังหวัด
  3. การเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาในช่วง 10 ปี 5 ปี และ 15 ปี
    เมื่อพิจารณาทั้งกลุ่มจังหวัดในช่วง 10 ปี ระหว่างปี 2532 และปี 2542 มีพื้นที่พัฒนาเพิ่มขึ้น 373.5 ตร.กม. เป็นส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 141.53 ตร.กม. และจังหวัดที่เหลือเรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ จังหวัดปทุมธานี (133.57 ตร.กม. ) นนทบุรี (71.65 ตร.กม.) และ อ่างทอง (26.79 ตร.กม.) พื้นที่เมือง/พัฒนาที่เพิ่มขึ้นจะกระจายไปตามแนวถนนหลักภายในจังหวัด สำหรับในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2542 และ ปี 2547 พบว่าทั้งกลุ่มจังหวัดมีพื้นที่พัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 เท่าของช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แยกเป็นจังหวัดเรียงตามลำดับจากมากไปน้อยคือ อ่างทอง (12.8 เท่า) พระนครศรีอยุธยา (4.12 เท่า) นนทบุรี (2.8 เท่า) และปทุมธานี (1.48 เท่า) เมื่อพิจารณาช่วงเดียวรวด 15 ปี ระหว่าง 2532 และปี 2547 พบว่ามีพื้นที่พัฒนาเพิ่มขึ้น 1,432.44 ตร.กม. แยกเป็นจังหวัดเรียงตามลำดับจากมากไปน้อยคือ พระนครศรีอยุธยา (601.71 ตร.กม.) อ่างทอง (352.87 ตร.กม.) ปทุมธานี (247.81 ตร.กม.) และนนทบุรี (230.05 ตร.กม.)
  4. อัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนา ในช่วง 10 ปี 5 ปี และ 15 ปี
    การศึกษาพื้นที่พัฒนาในรูปของอัตราส่วน และการพัฒนาข้อมูลให้เป็นสารสนเทศด้วยการนำค่าอัตราส่วนพื้นที่พัฒนามาสร้างแผนที่เฉพาะเรื่องในระดับตำบล จะช่วยให้ภาพการพัฒนาเชิงพื้นที่มีความหมายเพิ่มขึ้น สำหรับการศึกษาครั้งนี้ มีการนำข้อมูลพื้นที่พัฒนามาจัดให้อยู่ในรูปของอัตราส่วน 3 แบบ คือ
                    1) อัตราส่วนพื้นที่พัฒนาต่อพื้นที่ตำบล ให้ความหมายถึงแนวโน้มการกลายเป็นเมืองในเชิงพื้นที่ สามารถเปรียบเทียบการขยายตัวของเมืองหรือพื้นที่พัฒนาในระดับตำบลได้ ช่วยในการตัดสินใจในการวางเป้าหมายการพัฒนาหรือการลงทุนเพื่อการกระจายความเจริญว่าควรเป็นแนวทางใดใน 4 แนวทางต่อไปนี้คือ 1) ประสิทธิภาพนำความเท่าเทียม 2) ความเท่าเทียมนำประสิทธิภาพ 3) ประสิทธิภาพและความเท่าเทียมเดินไปพร้อมๆกัน 4) ไม่มีทั้งประสิทธิภาพและความเท่าเทียมคือไม่มีเป้าหมาย
                     2) อัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาต่อพื้นที่ตำบล จะช่วยให้เห็นภาพการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ในระดับตำบลว่าแต่ละตำบลมีความเข้มข้นของการเปลี่ยนแปลงทางพื้นที่มากน้อยเพียงใด ได้ผลสรุปในระดับกลุ่มจังหวัด ดังนี้
                    ช่วง 10 ปี (2532-2542) พบว่า กลุ่มตำบลที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ที่เข้มข้นที่สุดหรืออัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาอยู่ระหว่าง 17.13%-44.8% ของพื้นที่ตำบล มีจำนวน 18 ตำบล อยู่ในจังหวัดนนทบุรี 4 ตำบลได้แก่ บางกร่าง คลองเกลือ บ้านใหม่สุขาภิบาล และบางพูดสุขาภิบาล อยู่ในจังหวัดปทุมธานี 4 ตำบล ได้แก่ บางแขยง คลองหนึ่ง บึงยี่โถ และลำผักกูด อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 9 ตำบลได้แก่ เขตเทศบาล คลองสระบัว คลองสวนพลู ไผ่ ท่าเรือ บางพระครู บางปะหัน บ้านเลน และคานหาม และอยู่ในจังหวัดอ่างทอง 1 ตำบลคือ ตลาดหลวง
                    ช่วง 5 ปี (2542-25475) พบว่ากลุ่มตำบลที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ที่เข้มข้นที่สุดหรืออัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาอยู่ระหว่าง 54.34%-86.34% ของพื้นที่ตำบล มีจำนวน 20 ตำบล อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 17 ตำบล ได้แก่ 6 ตำบลในอำเภอบางบาล และ 10 ตำบลในอำเภอผักไห่ และอยู่ในจังหวัดอ่างทอง 3 ตำบล ได้แก่โพธิ์ม่วงพันธ์ ห้วยต้นแหลม และจำปาหล่อ
                    ช่วง 15 ปี (2532-2547) พบว่ากลุ่มตำบลที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ที่เข้มข้นที่สุดหรืออัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาอยู่ระหว่าง 59.95%-93.45% มีจำนวน 20 ตำบล อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 15 ตำบลได้แก่ 1 ตำบลในอำเภอท่าเรือ 4 ตำบลในอำเภอบางบาล 10 ตำบลในอำเภอผักไห่ อยู่ในจังหวัดอ่างทอง 4 ตำบล ได้แก่ โพธิ์ม่วงพันธ์ ห้วยต้นแหลม ตลาดหลวงและจำปาหล่อ และอยู่ในจังหวัดนนทบุรี 1 ตำบลคือ บางพูดสุขาภิบาล
                    3) อัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาต่อพื้นที่พัฒนาปีสุดท้าย ให้ความหมายถึงรูปแบบการเปลี่ยนเชิงพื้นที่ในระดับตำบลว่าแต่ละตำบลมีการพัฒนาพื้นที่อย่างค่อยเป็นค่อยไป หรืออย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้ผลสรุปในระดับกลุ่มจังหวัด ดังนี้
                    ช่วง 10 ปี (2532-2542) พบว่า กลุ่มตำบลที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงหลังสูงที่สุด คือ 60%-100% ของพื้นที่พัฒนาปีสุดท้าย เป็นพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ในจังหวัดอ่างทอง และฝั่งตะวันออกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (รูปที่ 2_7 A)
                    ช่วง 5 ปี (2542-2547) พบว่า กลุ่มตำบลที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงหลังสูงที่สุด คือ 76.93%-99.89% ของพื้นที่พัฒนาปีสุดท้าย เป็นพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน จากบนสุดคือจังหวัดอ่างทองเกือบทั้งจังหวัด ฝั่งตะวันตกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีและนนทบุรี (รูปที่ 2_7 B)
                    ช่วง 15 ปี (2532-2547) พบว่ากลุ่มตำบลที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงหลังสูงที่สุด คือ 91.88%-100% ของพื้นที่พัฒนาปีสุดท้าย พื้นที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยาซึ่งอยู่ส่วนบนของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน (รูปที่ 2_7 C)


4. การตรวจสอบความถูกต้องของการใช้ที่ดินด้วยข้อมูลความหนาแน่นของประชากร

                  เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดยใช้ข้อมูลอัตราส่วนพื้นที่พัฒนาต่อพื้นที่ตำบลในปีพ.ศ.2547 และข้อมูลความหนาแน่นของประชากร ปี2546 มาทำการซ้อนทับกันเพื่อดูว่าพื้นที่พัฒนาต่อพื้นที่ตำบลที่ได้จากการศึกษานั้น มีความสอดคล้องเพียงใดกับจำนวนประชากรในพื้นที่ พบว่า 3 จังหวัดคือ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และอ่างทอง มีความสอดคล้องกับความเป็นจริง ขณะที่พระนครศรีอยุธยา พบว่ามีจุดสนใจอยู่ที่อำเภอผักไห่ และอำเภอบางบาล เนื่องจากพื้นที่ตำบลส่วนใหญ่ของสองอำเภอดัง กล่าว ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราส่วนพื้นที่พัฒนาต่อพื้นที่ตำบลสูง แต่กลับมีความหนาแน่นของจำนวนประชากรที่เบาบาง ในส่วนนี้จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติม (รูปที่ 2_8-3) จากการตรวจสอบสภาพจริงพบว่าค่าสะท้อนของแสงในบริเวณนี้อยู่ในช่วงเดียวกับค่าสะท้อนบริเวณที่เป็นตัวเมือง เพราะส่วนใหญ่เป็นระบบโครงข่ายถนน




รูปที่ 2_8-3 การตรวจสอบความถูกต้องของการแปลการใช้ที่ดินด้วยข้อมูล
ความหนาแน่นของประชากร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          

อรสา สุกสว่าง  วิลาสลักษม์ รอดโฉม  กฤษขจร บุญช่วยเหลือ  และ รัตถชล อ่างมณี
ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2561-3480 ต่อ 447, มือถือ 08-1643-6556