ความตระหนักทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสะท้อนแนวการปฏิบัติในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของเกษตรกรชาวไทยภูเขาในภาคเหนือของประเทศไทย
Environmental Awareness to Reflex the Practices on Natural Resources Utilization of Mountainous People in Northern Thailand



          

          จากแนวคิดที่ว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมโดยคำนึงถึงแนวการพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น จึงจำเป็นที่ต้องพิจารณาถึงความตระหนักของคนในชุมชนว่ามีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใดเพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างนิเวศน์วิทยาและการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนไปพร้อม ๆ กัน โดยที่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยคำนึงถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและความสูญเสียไปของสิ่งแวดล้อมจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในส่วนของครัวเรือน ชุมชน ภูมิภาคและประเทศ แต่อย่างไรก็ตามความตระหนักของคนในชุมชนย่อมแตกต่างกันไปเนื่องจาก ความแตกต่างในเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความเชื่อ และศาสนา รวมทั้งกฎ ข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติที่กำหนดภายในชุมชนเองและที่กำหนดโดยหน่วยงานของรัฐ ส่งผลให้แนวทางในการปฏิบัติต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพและปริมาณของสิ่งแวดล้อมต่างกันด้วย การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 4 ประการได้แก่ 1) เพื่อทบทวนมาตรการหรือมาตรฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาไว้ของคุณภาพของสิ่งแวดล้อม โดยไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเพื่อใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน 2) เพื่อศึกษาแนวทางปฏิบัติของเกษตรกรในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากอดีตจนถึงปัจจุบันโดยศึกษาในลักษณะเปรียบเทียบของเกษตรกรที่แตกต่างกันในด้านเผ่าพันธุ์ 3) เพื่อสร้างมาตรวัดหรือดรรชนีของความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และ 4) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของเกษตกรเพื่อก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

           ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มีด้วยกัน 2 ส่วนได้แก่ 1) ข้อมูลปฐมภูมิ เป็นข้อมูลที่ได้จากการประเมินชุมชนอย่างเร่งด่วน (Rapid Rural Appraisal, RRA) โดยสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก ครัวเรือนหรือการสัมภาษณ์แบบรายตัว โดยใช้แบบสอบถามเชิงลึก เพื่อให้ได้ภาพรวมของหมู่บ้านและข้อมูลพื้นฐานของแต่ละครัวเรือน และ 2) ข้อมูลทุติยภูมิ เป็นข้อมูลที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานราชการและหน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการ ที่อยู่ในส่วนภูมิภาคและในส่วนกลาง โดยประชากรและพื้นที่ศึกษาในการวิจัยนี้ประกอบด้วยประชากร 3 เผ่าพันธุ์ คือ 1) ชนเผ่ามูเซอ (Lahu) ณ หมู่บ้านบ่อไคร้ 2) ชนเผ่าไทยใหญ่ (Shan) ณ หมู่บ้านแม่ละนา ซึ่งทั้งสองหมู่บ้านอยู่ในตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ 3) ชนเผ่ากะเหรี่ยง (Karen) ณ หมู่บ้านเมืองแพม ในตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทั้งสามหมู่บ้านมีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกัน ในการวิจัยนี้จะใช้การวิเคราะห์ 2 ประเภทได้แก่ 1) การวิเคราะห์เชิงพรรณนา (descriptive analysis) เป็นการอธิบายผลการศึกษาโดยใช้ ตารางร้อยละ และ ค่าเฉลี่ย เพื่อตอบวัตถุประสงค์ที่ 1 และ 2 การวิเคราะห์ส่วนที่ 2 การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (quantitative analysis) เป็นการวิเคราะห์โดยใช้มาตรวัดความตระหนักหรือดัชนีเพื่อชี้วัดระดับความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Concern Scale: ECS) ของ Van Liere and Dunlap เพื่อตอบวัตถุประสงค์ที่ 3 และใช้การวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติในเรื่องการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงคุณภาพเพื่อตอบวัตถุประสงค์ที่ 4

           ผลการศึกษาเพื่อทบทวนมาตรการหรือมาตรฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน พบว่าวิธีการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยใช้ในปัจจุบันมีวิธีการจัดการดังต่อไปนี้ คือ 1) การให้การศึกษา หรือ การสอนให้เข้าใจถึงหลักการและวิธีการอนุรักษ์ การมีจริยธรรม การปลูกจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2) การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 3) ใช้กฎหมายหรือพระราชบัญญัติควบคุมการใช้ทรัพยากรสำหรับผลการศึกษาทางด้านแนวทางปฏิบัติของเกษตรกรในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากอดีตจนถึงปัจจุบันโดยศึกษาในลักษณะเปรียบเทียบของเกษตรกรที่แตกต่างกันในด้านเผ่าพันธุ์ พบว่าหมู่บ้านทั้งสามมีการจัดแบ่งเขตของที่ดินอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่ป่าโดยเป็นป่าใช้สอย ป่าต้นน้ำหรือป่าอนุรักษ์ที่ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมใดๆ นอกจากนี้ทั้งสามหมู่บ้านยังมีการเขียนบทลงโทษสำหรับผู้ที่ลักลอบตัดไม้หรือทำลายป่าไว้อย่างชัดเจน โดยหมู่บ้านแม่ละนาซึ่งเป็นหมู่บ้านไทยใหญ่และหมู่บ้านเมืองแพมซึ่งเป็นหมู่บ้านกระเหรี่ยงนอกจากมีการใช้วิธีการแบบการสั่งการและการควบคุมแล้วยังได้มีการปลูกจิตสำนึกให้กับลูกหลานในการอนุรักษ์ป่าโดยผ่านระบบการปกครอง วัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อ เช่น การสั่งสอนของผู้ปกครองโดยผ่านกิจกรรมของครัวเรือนและการสอนผ่านบทเพลงที่เกี่ยวข้องกับบุญคุณของป่า ในส่วนการจัดการด้านทรัพยากรน้ำนั้นมีเพียงหมู่บ้านเมืองแพมที่มีการจัดการด้านนี้โดยเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลา รวมทั้งมีการใช้พิธีกรรมเพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าและน้ำด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าหมู่บ้านเมืองแพมซึ่งเป็นหมู่บ้านชนเผ่ากระเหรี่ยงมีดัชนีชี้วัดความตระหนักทางด้านสิ่งแวดล้อมระดับสูงสุด อันดับที่สองได้แก่หมู่บ้านแม่ละนาซึ่งเป็นหมู่บ้านชนเผ่าไทยใหญ่และอันดับสุดท้ายได้แก่หมู่บ้านบ่อไคร้ซึ่งเป็นหมู่บ้านชนเผ่ามูเซอ และปัจจัยที่มีผลต่อมาตรวัดความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของเกษตรกรในชุมชน ได้แก่ปัจจัยด้านสามัญสำนึกและการรับรู้ด้านข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมโดยที่มีผลในเชิงบวกกับมาตรวัดความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยรายได้ของครัวเรือนหรือเกษตรกรมีผลเชิงลบกับมาตรวัดความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของครัวเรือนมาจากรายได้จากภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร โดยที่รายได้ที่ได้จากป่ามีจำนวนน้อย และชนเผ่ากระเหรี่ยงและไทยใหญ่จะมีพฤติกรรมมีผลต่อความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าโดยเปรียบเทียบกับชนเผ่ามูเซอ

          กล่าวโดยสรุปผลของการวิเคราะห์เชิงพรรณนาและเชิงปริมาณให้ผลที่สอดคล้องกันที่ว่าชนเผ่าที่แตกต่างกันมีผลต่อความตระหนักในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกัน โดยที่ชนเผ่ากระเหรี่ยงจะเป็นกลุ่มที่มีความตระหนักระดับสูงที่สุด ในขณะที่ชนเผ่ามูเซอมีความตระหนักทางด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ส่วนชนเผ่าไทยใหญ่จะมีความตระหนักในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่าชนเผ่ากระเหรี่ยงแต่สูงกว่าชนเผ่ามูเซอ ดังนั้นการที่คนในชุมชนจะมีความตระหนักในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการสร้างจิตสำนึกโดยผ่านการปฏิบัติของครัวเรือนหรือชุมชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้การได้รับรู้ข่าวสารด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีผลต่อความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของครัวเรือนหรือของคนในชุมชนเช่นกัน

          จากผลการศึกษาพบว่าการได้รับรู้ข่าวสารด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสร้างจิตสำนึกมีผลต่อความตระหนักในการใช้ทรัพยากร ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความรู้โดยวิธีการอย่างง่ายที่ชุมชนสามารถเข้าใจได้ในด้านการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่คนในชุมชนหรือสร้างกิจกรรมหรืองานประเพณีต่างๆ ร่วมกันกับชุมชนเพื่อให้คนเหล่านั้นมีความตระหนักทางด้านการใช้ทรัพยากรมากขึ้น นอกจากนี้ การวางแผนนโยบายในการส่งเสริมการรักษาและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่สูงภาคเหนือของประเทศไทย รัฐบาลควรเข้าใจความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีและศาสนา รวมทั้งกฎข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติที่กำหนดภายในชุมชนต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและควรนำชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนร่วมกันกับภาครัฐแทนการจัดการโดยกำหนดขึ้นจากภาครัฐเอง

          


ประพิณวดี ศิริศุภลักษณ์ และ นุชนาถมั่งคั่ง
ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2561-5037