แม้ว่าการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า
20ปีแล้วก็ตาม ยังคงมีบัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีทักษะทางภาษาไม่เพียงพอที่จะสื่อสารกับเจ้าของภาษาได้ในชีวิตจริง
เหตุผลที่น่าจะเป็นประการแรกคือนักศึกษาขาดโอกาสที่จะใช้ภาษาที่เรียนในสถานการณ์จริง
เหตุผลอีกประการหนึ่งคือกิจกรรมและงานที่ให้ทำในชั้นเรียนไม่สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาภาษาต่างประเทศที่เรียนได้
เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทมากในการเรียนการสอนภาษา ดังนั้นผู้สอนจึงควรเข้าใจถึงความสามารถและข้อจำกัดของเทคโนโลยี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การเรียนผ่านสื่อเทคโนโลยีที่แบ่งออกเป็นแบบซิงโครนัสและอซิงโครนัส
ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีแต่ละชนิดก็มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดในตัวของมัน
ดังนั้นเทคโนโลยีแต่ละชนิดจึงเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ต่างกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนาบทเรียนภาษาอังกฤษบนเว็บเพื่อใช้ในสถานการณ์การเรียนแบบซิงโครนัสและอซิงโครนัส
และใช้กิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นงาน แบบคอนเวอร์เจนและไดเวอร์เจน
2. การพัฒนาบทเรียนบนเว็บ
บทเรียนบนเว็บที่พัฒนาขึ้นเป็นบทเรียนที่ให้ผู้เรียน เรียนแบบเน้นงาน
โดยออกแบบให้ทำงาน 2 แบบ คือแบบคอนเวอร์เจนและแบบไดเวอร์เจน บทเรียนเป็นแบบสื่อประสม
ประกอบด้วยวิดีทัศน์ เทปเสียง และการเล่นตัวอักษรโดยผสมผสานกันอยู่ภายใต้การควบคุมของคอมพิวเตอร์
เทคโนโลยีที่ใช้เอื้อให้ผู้เรียนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ทั้งแบบเป็นกลุ่มและเป็นคู่
ระบบที่ใช้จัดการการเรียนการสอนประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ เช่น การบริหารจัดการ
เนื้อหา เครื่องมือสื่อสาร
3. การออกแบบงานแบบคอนเวอร์เจนและไดเวอร์เจน
มีงานวิจัยที่กล่าวถึงงานแบบคอนเวอร์เจนและไดเวอร์เจนว่าเป็นงานที่มีลักษณะการใช้ยุทธวิธีทางความคิดที่ต่างกัน
คำว่าคอนเวอร์เจนและไดเวอร์เจนมาจากทฤษฎีการเรียนรู้โดยประสบการณ์ของ
คอร์ป (Kolb) โดยมีที่มาจากลักษณะการเรียนรู้ ที่แตกต่างกัน จากข้อสรุปของลักษณะการเรียนรู้ทั้ง
2 แบบนี้นำมาสร้างเป็นลักษณะกิจกรรมที่แตกต่างกันเป็นแบบคอนเวอร์เจนและไดเวอร์เจน
ทั้งนี้ลักษณะงานแบบคอนเวอร์เจนจะเน้นที่ผู้เรียนต้องสรุปหาคำตอบเพียงคำตอบเดียว
ในขณะที่งานแบบไดเวอร์เจนเป็นการเปิดกว้างให้มีคำตอบได้หลากหลาย
4. การออกแบบบทเรียนบนเว็บ
จากข้อสรุปที่ว่าการเรียนบนเว็บนั้นมีสิ่งสำคัญ 2 ประการที่มีผลต่อการเรียนคือเรื่องของเวลาและสถานที่
ดังนั้นบทเรียนบนเว็บที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจึงออกแบบให้เป็นบทเรียนที่ใช้สื่อเทคโนโลยีในสถานการณ์
2 แบบ คือแบบซิงโครนัสและอซิงโครนัสดังในแผนภาพ

การเรียนแบบซิงโครนัสคือสถานการณ์การเรียนที่ผู้เรียนและผู้สอนอยู่บนเว็บในเวลาเดียวกัน
ผู้เรียนสามารถสื่อสารกับผู้สอนได้ในเวลาจริงโดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถสื่อสารได้
2 ทางเช่น Chat Room และ Live WebBoard ส่วนการเรียนแบบอซิงโครนัสเป็นการเรียนการสอนที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนอยู่ต่างสถานที่และต่างเวลากันโดยใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารเช่น
E-mail และ WebBoard ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน
สถานศึกษาหรือที่ใดก็ตาม
|