หม่อน ( Mulberry ) : พืชมากประโยชน์

            หม่อนเป็นไม้ยืนต้นจำพวกไม้พุ่ม (tree ,shrut ) อยู่ในวงศ์ Moraceae genus Morus มีอยู่หลาย ชนิด ที่พบมากมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus alba Linn. หม่อนมีลำต้นใหญ่ ตั้งตรง มีกิ่งก้านมาก ใบ เป็นส่วนที่ใช้เลี้ยงไหม ขนาด ความหนา และลักษณะรูปร่างของขอบใบจะแตกต่างกันไปตามชนิดของพันธุ์ ราก ประกอบด้วยรากแก้ว รากแขนง และรากฝอย แต่หม่อนที่ขยายพันธุ์ด้วยกิ่งจะมีรากแขนงและรากฝอยเท่านั้น โดยรากแขนงจะทำหน้าที่ยึดลำต้นและกิ่งให้ทรงตัวอยู่ได้ ส่วนรากฝอยมีหน้าที่ดูดซึมอาหารและน้ำจากดิน ดอกและผล โดยทั่วไปหม่อนเป็นพืชที่มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกกันคนละต้น แต่บางพันธุ์อาจมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกหม่อนมีลักษณะเป็นกลุ่มเกาะติดกันเป็นช่อ เมื่อดอกตัวเมียได้รับการผสมจะเปลี่ยนเป็นผล ซึ่งมีลักษณะเป็นช่อประกอบด้วยเมล็ดเล็กๆ จำนวนมาก

การใช้ประโยชน์จากหม่อน

            ใบ ใช้เป็นอาหารของหนอนไหม และหนอนไหมที่เจริญเติบโตเต็มที่ จะนำโปรตีนในใบหม่อนไปสร้างเป็นโปรตีนผลิตเป็นเส้นไหม ซึ่งเส้นไหม จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าไหมที่มีความสวยงาม

             ใบหม่อนมีสาร flonoid phytoestrogen , triterpene ,ceramide , mulberroside และ น้ำมันหอมระเหย โดย มีการศึกษาพบสาร flavonol glycosides 3 ชนิด คือ quercetin 3-(6-malonyglucoside ) , rutin (quercetin 3- rutinoside ) และ isoquercetin ( quercetin 3- glucoside ) เป็นองค์ประกอบหลักของสาร LDL antioxidant โดยพบ quertin 3-(6-malonyglucoside ) และ rutin เป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูงในใบหม่อน (Katsube et al, 2005) และใบหม่อนสามารถนำไปทำเป็นชาสำหรับชงน้ำร้อนดื่มโดยจะทำในรูปชาเขียว ชาจีน และชาฝรั่ง หรือ รับประทานใบและยอดอ่อนโดยตรงโดยการใส่ในต้ม หรือแกงก็ได้

             ใบหม่อนมีโปรตีน 18-28.8 % น้ำหนักแห้ง สามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์บางชนิดได้เช่นในในการเป็นอาหารปลากินพืช ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องบางชนิด (FAO,2000)

             ผลหม่อน มีการพบว่ามีanthocyanins สูง ในผลหม่อนแห้ง มี ไขมัน 63 % กรดอินทรีย์ 27 % แอลกอฮอล์ 1.6 % และพบว่า สารcyanidin – 3-O-?-D-glucopyranoside (C3G ) ที่สกัดจากanthocyanin ในผลหม่อนสามารถต่อต้านอาการขาดเลือดในสมองได้ (Kang et al , 2005 ) ดังนั้นผลหม่อนสามารถรับประทานสด นำไปแปรรูปเป็นน้ำผลหม่อนเข็มข้นหรือพร้อมดื่ม และเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารต่าง เช่นไอศกรีม แยม แยลลี่ ข้าวเกรียบ ขนมพายลูกหม่อน รวมทั้งการผลิตเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทไวน์

            ลำต้นและกิ่ง สามารถใช้เป็นไม้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางกีฬาบางชนิดได้ และเยื่อจากเปลือกลำต้นและกิ่งสามารถนำมาทำเป็นกระดาษได้สวยงามเช่นเดียวกับกระดาษสา

           นอกจากนี้สามารถนำต้นหม่อนไปใช้ในการจัดและประดับสวนเพื่อให้มีภูมิทัศน์ที่ดีได้เนื่องจากต้นหม่อนทนต่อการตัดแต่ง และหลังการตัดแต่งจะมีการแตกกิ่งและเจริญเติบโตเร็ว



 

อุไรวรรณ นิลเพ็ชร์
ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 034- 351-886