การพัฒนาเพิ่มผลผลิตและปริมาณสารแลคโตนของฟ้าทะลายโจร 3 พันธุ์ เพื่อใช้ในปศุสัตว์แบบยั่งยืนในเขตจังหวัดสระบุรี

          
สมุนไพรพืชที่คนไทยคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เนื่องจากมีการนำเอาพืชสมุนไพรนี้มาใช้เป็นอาหาร และยารักษาโรคตั้งแต่สมัยโบราณ ผ่านการลองผิดลองถูกจนได้เป็นหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิปัญญาไทย” ความรู้ด้านสมุนไพรในอดีตโดยเฉพาะตำรับยารักษาโรคจะถูกถ่ายทอดจากปากต่อปาก จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งโดยที่ไม่มีการบันทึก ประกอบกับแนวทางรักษาทางการแพทย์ที่มีการพัฒนา เน้นการใช้ยาที่ได้จากการสังเคราะห์และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทำให้ความรู้ในด้านสมุนไพรบางชนิดสูญหายและขาดความสนใจ ในปัจจุบัน สิ่งที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ก็คือ การใช้สมุนไพรในการผลิตสัตว์เพื่อการบริโภคของมนุษย์ เนื่องจากในกระบวนการผลิตสัตว์ทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น ได้มีการใช้ “ยาปฏิชีวนะ” เพื่อการรักษาโรค และการเจริญเติบโตของสัตว์ แต่การใช้ยาปฏิชีวนะนั้นต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการซื้อยาจากต่างประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก และแม้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสัตว์ แต่จากการทดลอง พบว่า ยาดังกล่าวนั้นมีผลกระทบต่อมนุษย์ นอกจากนี้ยังได้มีการออกกฎหมายระงับการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์ ดังนั้น ในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์เพื่อการบริโภคจึงต้องหาแนวทางแก้ไขเพื่อหาสิ่งที่ทดแทนยาปฎิชีวนะต่างๆ ซึ่งจากการทดลองมากมาย พบว่า พืชสมุนไพรสามารถใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะได้ และถึงแม้ว่าบางชนิดยังไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาปฏิชีวนะก็ตาม แต่จุดเด่นของการใช้พืชสมุนไพรทดแทน คือ ต้นทุนที่ลดต่ำลง และลดผลค้างเคียงต่อมนุษย์ และที่สำคัญ คือ งานวิจัยที่ผ่านมานั้นศึกษาในพืชสมุนไพรเพียงส่วนน้อยเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่ายังมีพืชสมุนไพรที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการผลิตสัตว์เพื่อการบริโภคมากขึ้น และถึงแม้ว่าจะไม่มีชนิดของสมุนไพรที่เหมาะสมก็ตาม การปรับปรุงพันธุ์สมุนไพรเพื่อให้ได้สมุนไพรที่เหมาะสมในการผลิตสัตว์เพื่อการบริโภคก็เป็นสิ่งเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ดี

                  ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่มีศักยภาพในการใช้ทดแทนสารเคมีและสารปฏิชีวนะได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันมีการพัฒนาและผลิตฟ้าทะลายโจรเพื่อเป็นวัตถุดิบผสมในอาหารสำหรับใช้ในการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด และสุกร อย่างกว้างขวาง มีสรรพคุณในการรักษาโรคสัตว์ได้ เช่น แก้บิด ลำไส้อักเสบในลูกสุกร แก้โรคขี้ขาวในเป็ด ไก่ แก้โรคปากเปื่อย และโรคขาอ่อนในลูกเป็ด เป็นต้น ส่วนเหนือดินของสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ประกอบด้วยสารสำคัญทางยาประเภท แลคโตน ซึ่งเป็นสารที่ให้รสขม มีอยู่หลายชนิด เช่น แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) เป็นต้น ถึงแม้ว่าฟ้าทะลายโจรจะได้รับการนิยมปลูกเพื่อความต้องการสารสำคัญทางด้านเภสัชวิทยาจำพวกแลคโตนมากขึ้น แต่ประสิทธิผลของสารตัวยาที่สำคัญนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับคุณภาพยา ซึ่งพบปัญหาในเรื่องความไม่สม่ำเสมอของตัวยา อันเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม และปัจจัยทางสภาพพันธุกรรมด้วย การที่ฟ้าทะลายโจรมีปริมาณสารออกฤทธิ์แตกต่างกันในแต่ละสภาพแวดล้อมจึงเป็นปัญหาต่อความสม่ำเสมอของคุณภาพของผลผลิต ดังนั้นในกระบวนการผลิตฟ้าทะลายโจรเพื่อให้ได้ผลผลิตและปริมาณสารออกฤทธิ์สูง จึงควรเลือกสายพันธุ์ปลูกที่มีผลผลิตและคุณภาพดี แต่ปัจจุบันขาดสายพันธุ์ดีที่มีเสถียรภาพและผลผลิต ซึ่งมีปริมาณของสารตัวยาสำคัญสูงเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบเตรียมทำยา ซึ่งการหาความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อผลผลิตและปริมาณสารแลคโตนจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจากการศึกษา เสถียรภาพในการให้ผลผลิตของฟ้าทะลายโจร 3 แหล่งรวบรวม ได้แก่ จาก อ.กำแพงแสน จ. นครปฐม จ.ระยอง และจ.ศรีสะเกษโดยปลูกใน 2 สถานที่ คือ จังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครปฐมและ 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน (เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม) และฤดูฝน (เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน) ในแต่ละสภาพแวดล้อมวางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ภายในบล็อกเมื่อทำการวิเคราะห์ความแปรปรวนรวมเพื่อทดสอบอิทธิพลร่วมของพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมของ 8 ลักษณะ คือ ความสูงต้น ความกว้างทรงพุ่ม น้ำหนักสด น้ำหนักแห้ง น้ำหนักใบ พื้นที่ใบต่อต้น น้ำหนักกิ่ง และจำนวนกิ่งต่อต้น พบว่า ฟ้าทะลายโจรจากแหล่งรวบรวม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ให้ค่าการเจริฐเติบโตที่แตกต่างทางสถิติจากแหล่งรวบรวมอื่น และเมื่อวิเคราะห์ค่าเสถียรภาพ พบว่า ฟ้าทะลายโจรจาก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ให้ค่าน้ำหนักสดต่อต้นเฉลี่ยสูงที่สุดคือ 140.26 กรัม และมีค่าสัมประสิทธิของความแปรปรวนของข้อมูลสูง สามารถจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 ตามวิธีการของ Francis and Kannenberg (1987) คือคือ ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง และมีค่าสัมประสิทธิ์ของความแปรปรวนสูง ส่วนฟ้าทะลายโจรจากแหล่งรวบรวมอื่นพบว่า สามารถจัดอยู่ในกลุ่ม 3 คือ มีค่าเฉลี่ยของน้ำหนักสดต่อต้นต่ำและมีค่าสัมประสิทธิ์ของความแปรปรวนของข้อมูลต่ำ

                 นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอื่น ๆ อีกมากมายหลากหลายชนิดที่มีสรรพคุณอันเป็นประโยชน์และใช้ในระบบการผลิตในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ อาทิเช่น ตะไคร้ ไพล และพริก เพื่อช่วยเจริญอาหาร เป็นต้น

 

ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา1ปราโมทย์ สฤษดิ์นิรันดร์ 2
1คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
โทรศัพท์ 02-579-0308 ต่อ 127
2คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
โทรศัพท์ 034-281084

...............................