การพัฒนาแผ่นชิ้นไม้อัดจากเศษเหลือไม้กฤษณาเพื่อการเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืน
Residual Agarwood Particleboard Development for Increasing Sustainable Valuation

          ปัจจุบันเกษตรกรได้หันมาสนใจการปลูกไม้กฤษณากันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดตราด โดยเกษตรกรมุ่งหวังที่จะสร้างรายได้จากการขายน้ำมันกฤษณา ซึ่งมีราคาแพง แต่อย่างไรก็ตาม ไม้กฤษณาที่สามารถนำมากลั่นเพื่อให้น้ำมันหอมระเหยได้นั้น จะต้องผ่านกระบวนการทำให้เกิดสารกฤษณาภายในเนื้อไม้ก่อน โดยสารกฤษณาจะเกิดเฉพาะบริเวณที่มีบาดแผลและถูกเชื้อราเข้าทำลายเนื้อไม้ในบริเวณนั้น โดยเนื้อไม้ที่มีสารกฤษณาเกิดขึ้นนั้นจะมีลักษณะเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลเป็นจุดหรือแถบกระจายอยู่ หากมีสารกฤษณาสะสมอยู่มากเนื้อไม้จะเป็นสีน้ำตาลดำเป็นเนื้อเดียวกัน หนักและจมน้ำ ส่วนเนื้อไม้ที่ไม่เกิดสารกฤษณา เนื้อไม้จะมีสีขาวนวลและเบา เสี้ยนตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าได้ง่าย ขัดชักเงาไม่ดี จึงไม่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดเศษเหลือของไม้กฤษณาที่ไม่เกิดสารกฤษณาเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก รวมทั้งในกระบวนการกลั่นน้ำมันกฤษณาจะเกิดเศษเหลือจาการกลั่น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการนำเศษเหลือเหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ไม้กฤษณา

          แผ่นชิ้นไม้อัด (Particleboard) เป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นเพื่อทดแทนการใช้ประโยชน์จากไม้ธรรมชาติ ในการผลิตเครื่องเรือนต่างๆ โดยที่วัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นเศษเหลือจากการแปรรูปไม้ เศษกิ่ง ไม้ ปลายไม้ และวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร โดยกรรมวิธีการอัดร้อนและกาวเป็นตัวประสาน โดยทั่วไปแล้วกาวที่นิยมใช้คือกาวยูเรียฟอร์มาดีไฮด์ ( Urea Formaldehyde )

วัตถุประสงค์
        1. เพื่อศึกษาการผลิตแผ่นชิ้นไม้อัดจากเศษเหลือของไม้กฤษณาส่วนที่ไม่เกิดสารกฤษณา
        2. เพื่อศึกษาถึงคุณสมบัติของแผ่นชิ้นไม้อัดจากเศษเหลือไม้กฤษณา

วิธีการทดลอง
        1. ทำการเตรียมชิ้นเศาเหลือไม้กฤษณา สำหรับการผลิตแผ่นชิ้นไม้อัดส่วนผิวหน้า และชั้นไส้
        2. นำชิ้นไม้มาอบแห้งให้มีความชื้น 5 % แล้วทำการผสมกาว โดยใช้กาวยูเรียฟอร์มาดีไฮด์ 10 % ของน้ำหนักอบแห้งของชิ้นไม้ผสมกับ wax 1 %, สารเร่งแข็งในส่วนชั้นผิวหน้า 1% และ ที่ชั้นไส้ 2 % ของน้ำหนักอบแห้งของกาว
        3. ทำการอัดร้อนแผ่นชิ้นไม้อัดที่ ความหนา 1 ซม. และความหนาแน่น 800 kg/m3 ด้วยความดัน 250 kg./cm2. อุณหภูมิ 150 ํC เป็นเวลา 3 นาที
        4. นำแผ่นชิ้นไม้อัดที่ได้มาทดสอบค่าคุณสมบัติทางฟิสิกสและทางกลได้แก่ค่า ความชื้นของแผ่นชิ้นไม้อัด ค่าความหนาแน่น ค่า Modulus of Rupture (MOR), Modulus of Elasticity (MOE) และ Internal Bonding (IB)

ผลการทดลอง
        แผ่นชิ้นไม้อัดจากเศษเหลือไม้กฤษณาที่ผ่านกระบวนการอัดร้อนที่ความดัน 250 kg./cm2. อุณหภูมิ 150 ํC เป็นเวลา 3 นาที มีค่าความชื้นเฉลี่ย 6.6 % ค่าความหนาแน่นเฉลี่ย 800 kg/m3 และมีผลการทดสอบคุณสมบัติทางกลดังนี้ MOR = 19.13 N/mm2 MOE = 2138 N/mm2, IB = 0.47 N/mm2 ซึ่งผลการทดสอบมีค่าสูงกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 876- 2547


 

วิวัฒน์ หาญวงศ์จิรวัฒน์ จงรัก วัชรินทร์รัตน์ สมภัทร คลังทรัพย์
ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางไม้ และสถานีวิจัยวนเกษตรตราด
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 0-2579-0173