ความก้าวหน้าในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในรอบ 15 ปี (พ.ศ. 2535-2549)
Progress in Sweet Corn Improvement of Kasetsart University
during 15 Years (1992-2006)

        ข้าวโพดหวาน (Zea mays L. saccharata) เป็นพืชผักอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับหนี่งของประเทศไทย เพื่อใช้ในการบริโภคฝักสด และการแปรรูปบรรจุกระป๋อง แบบบรรจุทั้งเมล็ด (whole kernel) ข้าวโพดครีม (cream-style corn) และแบบบรรจุทั้งฝัก (corn-on-cob) นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปแบบแช่แข็งทั้งเมล็ด แช่แข็งทั้งฝัก เมล็ดแห้ง และน้ำนมข้าวโพด ปัจจุบัน ความต้องการข้าวโพดหวานของโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นผลให้ในปี พ.ศ.2548 ประเทศไทยส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณ 103,975 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,031.99 ล้านบาท และส่งออกข้าวโพดหวานแช่แข็งปริมาณ 5,798.55 ตัน มูลค่า 168.55 ล้านบาท โดยเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดหวานอันดับ 4 ของโลก วัตถุประสงค์หลักของโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวที่ให้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพในการรับประทานที่ดี สำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานใช้วิธีการสร้างประชากร โดยนำพันธุ์ข้าวโพดหวานจากต่างประเทศที่ควบคุมด้วยยีนชรังเค่น-2 (shrunken-2) และ บริทเทิ่ล-1 (brittle-1) มาผสมกับพันธุ์ผสมเปิด และสายพันธุ์แท้ข้าวโพดไร่ที่ดีเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นพัฒนาและปรับปรุงประชากรโดยใช้วิธีการคัดเลือกรวม 3 - 4 รอบ เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม และมีลักษณะทางการเกษตรที่ดี แล้วคัดเลือกประชากรที่มีศักยภาพมาปรับปรุงพันธุ์แบบ Testcross Selection with Inbred Tester และนำประชากรที่ดีมาสกัดสายพันธุ์ และพัฒนาเป็นสายพันธุ์แท้โดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบบันทึกประวัติ การประเมินสายพันธุ์ใช้วิธี line x tester analysis โดยนำสายพันธุ์ผสมตัวเอง S2 - S4 ผสมกับตัวทดสอบที่เป็นสายพันธุ์แท้ตามแบบเฮเทอโรซีส นอกจากนี้ ยังมีการนำสายพันธุ์แท้ที่ดีมาผสมแบบพบกันหมดเพื่อประเมินสมรรถนะการผสมของสายพันธุ์และลูกผสม การสกัดสายพันธุ์จากพันธุ์ลูกผสมที่เป็นการค้า และการปรับปรุงสายพันธุ์แท้ที่ดีเด่นให้มีลักษณะที่ดีขึ้น การประเมินพันธุ์ลูกผสมในปีที่ 1 - 2 ทำที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ปีที่ 3 เพิ่มการทดสอบพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวที่ดีเด่นในการเปรียบเทียบพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในสถานีทดลองต่าง ๆ ทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกร ทดสอบเขตกรรม ทดสอบโรคและแมลง ทดสอบผลผลิตของสายพันธุ์พ่อแม่ ทดสอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม และทดสอบการแปรรูป ปีที่ 4 คัดเลือกลูกผสมเดี่ยวก่อนจำหน่ายเป็นการค้าแล้วทดสอบพันธุ์เหมือนปีที่ 3 และทดสอบแปลงใหญ่ในไร่เกษตรกร ปีที่ 5 คัดเลือกลูกผสมเดี่ยวที่ดีที่สุดแล้วเผยแพร่สู่เกษตรกรและโรงงานแปรรูป ผลการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่องในช่วง 15 ปี (พ.ศ. 2535-2549) ได้ลูกผสมเดี่ยว พันธุ์อินทรี 1, อินทรี 2, KSSC 503, KSSC 978 (ลูกผสมเดี่ยวสองสี) และ KSSC 563 ซึ่งได้เผยแพร่สู่เกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ในปี พ.ศ.2538, 2542, 2546, 2547 และ 2548 ตามลำดับ และจะเผยแพร่ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ใหม่ KSSC 604 ในปี พ.ศ.2550 นี้

 

 

 

โชคชัย เอกทัศนาวรรณ1 ชไมพร เอกทัศนาวรรณ2 นพพงศ์ จุลจอหอ1 และ ฉัตรพงศ์ บาลลา1
1ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์
อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30320
2 โครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทร. 0-4436-1770-4