การปลูกถั่วแปบเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน
Legume : lablab bean (Lablab purpureus) in improvement of soil productivity.

           ถั่วแปบ (Lablab purpureous) เป็นพืชตระกูลถั่ว มีการเจริญเติบโตรวดเร็วมาก ขึ้นได้ดีในพื้นที่ดินทราย ซึ่งโดยธรรมชาติดินชนิดนี้มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้น้อย แต่เนื่องจากเมล็ดถั่วแปบมีวัสดุคล้ายฟองน้ำ ซึ่งสามารถดูดซับความชื้นจากดินได้ดีกว่าเมล็ดพืชชนิดอื่น ๆ ได้หลายเท่า ทำให้ถั่วแปบงอกได้โดยใช้เวลาน้อยกว่า และอัตราการงอกสูงกว่า นอกจากนั้น ถั่วแปบมีระบบรากลึก ถือว่าเป็นพืชบำรุงดินที่ดีมากชนิดหนึ่ง แต่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าไมยราบไร้หนาม เพราะต้องปลูกใหม่ทุกครั้ง ไม่สามารถสร้างคลังเมล็ดในดิน เนื่องจากเมล็ดไม่มีการพักตัว

           สำหรับวิธีการปลูกทำได้ 2 ลักษณะ คือ การปลูกเดี่ยว และการปลูกร่วมกับพืชอื่น

การปลูกเดี่ยว
           ถั่วแปบเป็นพืชที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนวได้ง่าย เนื่องจากเมล็ดมีขนาดเท่ากับข้าวโพด สามารถปลูกโดยใช้เครื่องปลูกข้าวโพดได้ การปลูกเพื่อบำรุงดินให้ได้ผล ต้องมีจำนวนต้นประมาณ 25,000 ต้นต่อไร่ จะต้องระยะปลูกระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ระหว่างต้น 12.5 เซนติเมตร (ปริมาณเมล็ดที่ใช้ 10 กิโลกรัมต่อไร่)
           เนื่องจากถั่วแปบเป็นพืชที่ไวต่อช่วงแสง เช่นเดียวกับไมยราบไร้หนาม คือถั่วแปบมีการเจริญเติบโตทางลำต้นตลอดช่วงฤดูฝน และจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ดังนั้นถ้าจะปลูกถั่วแปบเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ควรปลูกในช่วงวันยาวคือปลายมีนาคมเป็นต้นไป แล้วไถกลบในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฝนทิ้งช่วง เพื่อทำการปลูกข้าวโพดต้นเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าต้องการรวบรวมเมล็ดไว้ใช้ ควรปลูกตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม และเพื่อให้การเจริญเติบโตดีขึ้นและลดปริมาณเมล็ดหญ้าในแปลงปลูก ควรใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัส (P2O5) ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อไร่ และฉีดยาคุมหญ้าอาลาคลอร์หรือแลสโซ

การปลูกร่วมกับพืชอื่น
           ถั่วแปบปลูกร่วมกับข้าวโพดหวานได้ดี โดยปลูกถั่วแปบแซมระหว่างต้นข้าวโพด เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้ว ตัดต้นข้าวโพดพร้อมถั่วแปบนำไปเลี้ยงโคได้ หรือปล่อยให้ถั่วแปบเจริญเติบโตอีก ประมาณ 1 เดือน แล้วไถกลบลงไปในดินเพื่อบำรุงดินต่อไป


ดอกและฝักถั่วแปบสีม่วง

ดอกถั่วแปบสีขาว
สุขุม โชติช่วงมณีรัตน์
ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ
โทร. 0 4436 1770-4