โรคราน้ำค้าง (Peronosclerospora sorghi)
เข้าทำลายข้าวโพดตั้งแต่งอกจนถึงอายุประมาณ
1 เดือน ในระยะที่มีฝนตกชุก ลักษณะอาการเป็นทางยาวสีเหลืองแคบ ๆ ไปตามความยาวของใบ
หรือเป็นแบบsystemic เห็นเป็นทางลายสีเหลือง เขียวอ่อน เขียวแก่ สลับกันเป็นทางยาว
เมื่อนานเข้า รอยสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเกิดเป็นอาการใบไหม้
แห้งตายในที่สุด บริเวณผิวใบ โดยเฉพาะด้านล่างจะมีเส้นใยสีขาวของเชื้อรา
จับเป็นฝ้าเห็นได้ชัดเจนในตอนเช้าตรู่ซึ่งมีน้ำค้างจัด ลำต้นแคระแกรน
ต้นเตี้ย ใบผอม ข้อสั้น ฝักมักมีขนาดเล็กลง เมล็ดติดน้อยหรือไม่ติดเลย
ช่อดอกหรือยอดอาจจะแตกเป็นพุ่ม
โรคราสนิม (Puccinia polysora)
ปัจจุบันเป็นโรคที่มีความสำคัญที่สุด
ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโพดที่มีการปลูกอย่างต่อเนื่อง
เข้าทำลายข้าวโพดในระยะออกดอก รุนแรงที่สุดในฤดูปลายฝน (ส.ค. พ.ย.)
ลักษณะแผลเป็นตุ่มสีน้ำตาลแดงนูนจากผิว ลักษณะแผลค่อนข้างกลมถึงรูปไข่
แผลจะนูนทั้งสองด้านของใบ เมื่อเกิดมากขึ้นจะดันโป่งออก เมื่อเจริญเต็มที่ตรงกลางแผลก็จะปริแยกออก
สีส้มคล้ายสนิมเหล็ก ใบข้าวโพดที่เกิดแผลมากขึ้นจะซีดเหลืองและแห้งในที่สุด
ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม พันธุ์อ่อนแอ ใบจะไหม้แห้งภายใน 1 สัปดาห์
โรคใบไหม้แผลเล็ก (Bipolaris maydis)
เข้าทำลายข้าวโพดได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สภาพอากาศร้อนชื้น ลักษณะอาการแผลจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามความยาวของใบ
ขอบแผลเป็นสีน้ำตาลแดงไม่เรียบสม่ำเสมอ และถูกจำกัดด้วยเส้นใบ เมื่อเป็นหลาย
ๆ แผลเกิดติดต่อกันจะทำให้เกิดใบไม้ นอกจากนี้ ยังเป็นได้กับส่วนอื่น
ๆ อีก เช่น กาบใบ กาบฝัก ลำต้น และฝัก
โรคใบไหม้แผลใหญ่ (Bipolaris turcica)
เข้าทำลายข้าวโพดในระยะออกดอก
รุนแรงที่สุดในฤดูแล้ง (ธ.ค. มี.ค.) แต่ปัจจุบันเข้าทำลายได้ทุกฤดู
ลักษณะอาการระยะแรกจะเหมือนกับใบไหม้แผลเล็ก ต่อมาขยายใหญ่ขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณแผลเริ่มแห้งตายเป็นสีน้ำตาล
หรือสีเขียวเทา ลักษณะแผลไม่ถูกจำกัดด้วยเส้นใบ ขอบแผลเรียบสม่ำเสมอ
เมื่อเกิดแผลติดต่อกันหลาย ๆ แผลทำให้ใบไหม้ไปทั้งใบได้
โรคใบจุด (Bipolaris zeicola)
เป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่ง
ส่วนใหญ่จะเข้าทำลายข้าวโพดในฤดูแล้ง (ธ.ค. มี.ค.) สามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของข้าวโพดและทุกระยะการเจริญเติบโต
ตั้งแต่ต้นเล็กจนถึงระยะออกดอก อาการที่ใบจะเป็นจุดสีเหลืองถึงสีน้ำตาลขนาดเล็ก
มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ เมื่อมีหลาย ๆ แผลติดกันทำให้ใบไหม้ไปทั้งใบได้
โรคใบจุดสีน้ำตาล (Physoderma maydis)
โดยปกติพบได้ทั่วไปบริเวณเส้นกลางใบ
จะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลเข้ม ภายหลังเชื้อเข้าทำลายจะทำให้ใบหักพับ แต่ในพันธุ์ที่อ่อนแอ
แผลจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ใบจะเห็นรอยจุดติด ๆ กันเป็นปื้นสีน้ำตาลเข้มทำให้ใบไหม้
นอกจากนั้นจะเห็นที่กาบใบ ลำต้น เปลือกหุ้มฝัก และช่อดอก อาการจะรุนแรงระยะออกดอก
ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก
โรคกาบและใบไหม้ (Rhizoctonia solani)
เข้าทำลายข้าวโพดได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
ตั้งแต่ระยะกล้า โคนต้นมีลักษณะช้ำฉ่ำน้ำ ลำต้นหักพับ ระยะต้นโต เชื้อรานี้เข้าทำลายได้ทุกส่วนของข้าวโพด
ใบ กาบใบ กาบฝัก เปลือกหุ้มฝัก ลักษณะแผลบนใบ มีลักษณะซ้อนกันเป็นชั้น
ๆ ขอบสีน้ำตาลและไหม้แห้ง ใต้ใบบริเวณแผลจะเห็นเส้นใย อัดเม็ดกลม ๆ
กระจายอยู่ทั่วไป
โรคไวรัส SCMV & MDMV
SCMV
คือ โรคไวรัสใบด่างอ้อย ลักษณะอาการ ใบด่างเป็นขีดเล็ก ๆ สีขาว หรือเหลืองสลับเขียว
ขนานไปกับเส้นกาบใบ ในระยะต้นโต ที่ฝักข้าวโพดจะพบเปลือกเป็นสีขาวตั้งแต่ฝักเล็กจนถึงฝักใหญ่
MDMV คือ โรคไวรัสใบด่างแคระ ลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ ประตามความยาวของใบ
โดยเฉพาะที่ใบอ่อน ถ้าเป็นในระยะต้นเล็ก จะทำให้ต้นแคระแกรน ข้อสั้น
ใบเขียวเข้ม ถ้าเข้าทำลายในระยะต้นโต จะทำให้ใบเหลืองซีด ชะงักการเจริญเติบโต
โรคลำต้นเน่า (Macrophomina phaseolina)
โรคนี้เข้าทำลายต้นอ่อน
จะทำให้เกิดอาการแห้งตาย ระยะต้นแก่ทำให้เกิดลำต้นเน่า ส่วนมากจะเข้าทำลายในระยะต้นแก่
ตั้งแต่ระยะออกดอกจนถึงอายุแก่ เมื่อฉีกลำต้นดูจะพบเส้นใย อัดเป็นเม็ดสีดำมองดูคล้ายหยดถ่านหิน
กระจัดกระจายปกคลุม ทำให้เห็นเป็นทางหรือขีดเส้นสีดำเต็มไปหมด เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในถูกทำลาย
เมื่อมีลมแรงหรือใช้มือโยกเบา ๆ ลำต้นจะหักพับ ส่วนใหญ่บริเวณปล้องต้น
ๆ เหนือดิน
โรคลำต้นเน่า (Fusarium moniliforme)
โรคนี้เข้าทำลายทั้งต้นอ่อน
ต้นแก่ และฝัก อาการที่ฝักจะเห็นเส้นใยสีขาวเน่าไปทั้งฝักได้ ที่ลำต้นภายหลังเชื้อเข้าทำลาย
ต้นจะเหี่ยว ดูลักษณะภายนอกลำต้นปล้องล่าง ๆ จะเห็นเป็นขีด ๆ รอบลำต้น
ฉีกลำต้นดูเนื้อเยื่อภายในจะเป็นสีชมพู ถ้าความชื้นเหมาะสม ส่วนที่ถูกทำลายจะเป็นสีม่วง
ขณะต้นเริ่มแสดงอาการ เหี่ยว ใช้มือโยกลำต้นจะหักบริเวณโคนต้น และต้นจะแห้งตาย
|