ข้าวเป็นผลผลิตสินค้าที่สำคัญของประเทศ
นอกจากจะเป็นอาหารหลักของคนในชาติแล้วยังเป็นสินค้าส่งออกที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ
โดยร้อยละ 40 ของผลผลิตส่งออกในรูปของข้าวสาร ซึ่งยังสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น
ดังนั้นจึงนำข้าวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเส้น
ซึ่งนิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวางทั้งใน และต่างประเทศ
ในการวิจัยนี้ได้ตรวจสอบผลของกระบวนการผลิตแป้งข้าว
(การโม่) ต่อคุณภาพของเส้นก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งผลของการดัดแปรแป้งข้าวโดยเน้นวิธีทางฟิสิกส์เพื่อให้ได้แป้งที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการผลิตอาหารเส้นต่างๆ
แนวคิดในการนำแป้งโม่แห้งมาทดแทนแป้งโม่เปียกในการผลิตก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กอบแห้ง
ทำได้โดยเตรียมแป้งข้าวจากข้าว 3 พันธุ์ ได้แก่ แอมิโลสต่ำ (ปทุมธานี
1), แอมิโลสปานกลาง (กข 7) และแอมิโลสสูง (เหลือง 11) ปรากฎว่า ปริมาณโปรตีน
ไขมัน และเถ้า ของแป้งโม่แห้งจากข้าวทุกพันธุ์สูงกว่าแป้งโม่เปียก
จากข้อมูลปริมาณของสตาร์ชเสียหาย และโครงสร้างโมเลกุลของสตาร์ชจากเทคนิคทางโครมาโทกราฟี
ปรากฏว่า การโม่แห้งทำให้เกิดความเสียหายแก่เม็ดสตาร์ชมากกว่าการโม่เปียก
ส่งผลให้แป้งโม่แห้งมีกำลังการพองตัว และค่าการละลายสูงกว่าแป้งโม่เปียก
ดังนั้นเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งที่ผลิตจากแป้งโม่แห้งจึงมีค่าดัชนีการดูดซึมน้ำ
ค่าการสูญเสียน้ำหนักระหว่างการต้ม และมีเนื้อสัมผัสนิ่มกว่าก๋วยเตี๋ยวที่ผลิตจากแป้งโม่เปียก
โดยมีค่าแรงในการตัด และค่าแรงต้านการดึงต่ำกว่า เป็นแนวทางให้นำแป้งข้าวโม่แห้งไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป
ซึ่งใช้เวลาในการหุงต้มน้อยได้ต่อไป
สำหรับผลิตภัณฑ์ก๋วยเตี๋ยวแช่เยือกแข็ง
ทำได้โดยการดัดแปรสตาร์ชในแป้งข้าวเหนียวด้วยรังสีไมโครเวฟเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวต่อการคืนรูปจากเยือกแข็งดีขึ้น
โดยแป้งข้าวเหนียวดัดแปรสตาร์ชด้วยไมโครเวฟมีคุณสมบัติทางเคมีเชิงฟิสิกส์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากแป้งที่ไม่ผ่านการดัดแปร
โดยมีค่าอุณหภูมิเริ่มต้นการเกิด เจลาทิไนเซชัน และค่าความแข็งของเจลเพิ่มขึ้น
แต่ค่าพารามิเตอร์ด้านความหนืดลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับแป้งข้าวเหนียวปกติ
เมื่อผสมแป้งข้าวเหนียวดัดแปรสตาร์ชแทนแป้งข้าวเจ้าในสูตรน้ำแป้ง สามารถเพิ่มสมบัติความคงตัวต่อการคืนรูปจากเยือกแข็งของเส้นก๋วยเตี๋ยวได้
และเมื่อนำเส้นที่ปรับปรุงมาผลิตเป็นผัดไทยแช่เยือกแข็ง ปรากฏว่า มีเนื้อสัมผัสเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
เมื่อทดลองผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวพาสเจอไรซ์
ทำได้โดยผสมแป้งดัดแปรสตาร์ชด้วยการใช้ความร้อนร่วมกับความชื้น และการใช้รังสียูวี
ทดแทนแป้งข้าวเจ้าพันธุ์ชัยนาท 1 ปรากฏว่า การดัดแปรด้วยความร้อนร่วมกับความชื้น
ทำให้แป้งดัดแปรสตาร์ชมีอุณหภูมิสูงสุดของการเกิดเจลาทิไนเซชันสูงขึ้น
แต่มีค่ากำลังการพองตัว และค่าความหนืดสูงสุดลดลงจากแป้งที่ไม่ดัดแปร
ส่วนแป้งที่ดัดแปรสตาร์ชด้วยรังสียูวี โดยการปรับความชื้นแป้ง และฉายรังสียูวี
มีค่ากำลังการพองตัว และอุณหภูมิที่จุดสูงสุดของการเกิดเจลาทิไนเซชัน
ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากแป้งที่ไม่ดัดแปร แต่มีความหนืดสูงสุดลดลง โดยการดัดแปรสตาร์ชทั้งสองวิธีทำให้แป้งมีสีคล้ำขึ้น
การทดแทนแป้งดัดแปรสตาร์ชด้วยความร้อนร่วมกับความชื้น ทำให้เส้นก๋วยเตี๋ยวพาสเจอไรซ์
มีค่าแรงตัดสูงกว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ผสมแป้งดัดแปร ส่วนเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ผสมแป้งดัดแปรด้วยรังสียูวีนั้น
เมื่อพาสเจอไรซ์แล้วมีค่าแรงตัดไม่แตกต่างจากเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ผลิตจากแป้งปกติ
เมื่อนำแป้งดัดแปรสตาร์ชด้วยวิธีการอบผสานเนื้อมาใช้ในกระบวนการผลิตเส้นขนมจีนน้ำยาป่าพาสเจอไรซ์ในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว
พบว่า เมื่อตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบส่องกราด แป้งดัดแปรสตาร์ชด้วยวิธีอบผสานเนื้อมีเม็ดสตาร์ชที่สามารถทนต่อความร้อนได้มากขึ้น
รูปร่างของเม็ดสตาร์ชไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเม็ดสตาร์ชของแป้งข้าวปกติ
ค่าความหนืดที่วัดจากเครื่องวัดความหนืดอย่างรวดเร็วมีค่าลดลง ส่วนค่าอุณหภูมิของการเกิดเจลาทิไนเซชัน
และค่าพลังงานการสลายพันธะเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับค่าร้อยละระดับความเป็นผลึกที่สูงขึ้น
และค่าความแข็งแรงของเจลสูงกว่าจากเจลแป้งข้าวปกติ เมื่อนำแป้งข้าวอบผสานเนื้อมาผลิตเป็นเส้นขนมจีนพาสเจอไรซ์
โดยใช้แป้งข้าวหมักผงผสมแป้งข้าวหมักพรีเจลผง และแป้งข้าวอบผสานเนื้อ
ได้เส้นขนมจีนที่มีเนื้อสัมผัสไม่แตกต่างจากเส้นขนมจีนสดที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์
และสามารถเก็บรักษาได้นาน
นอกจากนั้น
ยังมีการเติมแป้งดัดแปรสตาร์ชด้วยวิธีอบผสานเนื้อ และกัม เพื่อปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ขนมจีนแช่เยือกแข็ง
ปรากฏว่า แป้งดัดแปรสตาร์ชมีค่าความหนืดที่วัดด้วยเครื่องวัดความหนืดอย่างรวดเร็วน้อยกว่าแป้งหมักหลังการคืนรูปจากเยือกแข็ง
เมื่อจำนวนรอบของการคืนรูปจากเยือกแข็งเพิ่มขึ้น ค่าร้อยละการสูญเสียน้ำน้อยกว่าจากเจลแป้งหมัก
เมื่อผลิตเป็นขนมจีนแช่เยือกแข็ง โดยการทดแทนแป้งหมักด้วยแป้งอบผสานเนื้อ
ได้ผลว่า การเติมแป้งหมักอบผสานเนื้อ ได้ขนมจีนที่มีเนื้อสัมผัสดี
และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ส่วนการเติมกัมในแป้งหมัก ปรากฏว่า การเติมกัมทุกชนิดมีผลให้ค่าความหนืดเพิ่มขึ้นเมื่อความเข้มข้นของกัมเพิ่มขึ้น
เจลที่ผสมกัมมีค่าการสูญเสียน้ำหลังจากการคืนรูปต่ำกว่าเจลแป้งหมัก
โดยขนมจีนพร้อมบริโภคแช่เยือกแข็งทดแทนด้วยแป้งหมักอบผสานเนื้อ และขนมจีนที่เติมกัม
สามารถเก็บได้นาน โดยที่ขนมจีนยังคงเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และมีปริมาณจุลินทรีย์บ่งชี้ถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคตามเกณฑ์มาตรฐาน
|