การสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรด้วยคลื่นอุลตราโซนิค
The extraction of an andrographolide in Fathalaichone by ultrasonic

           สมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งคนส่วนใหญ่นำมาใช้อย่างแพร่หลาย การนำสมุนไพรไปใช้นั้นจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของสมุนไพรเนื่องจากปริมาณสารสำคัญของสมุนไพรจะแตกต่างกันไปตามส่วนต่างๆ ของสมุนไพร วิธีการสกัด หรือตามเขตกรรม ฯลฯ จึงจำเป็นต้องควบคุมมาตรฐานและคุณภาพของสารสำคัญในสมุนไพรเพื่อให้ได้ชนิดและปริมาณเป็นไปตามความต้องการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ การวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมมาตรฐานของสมุนไพรได้ แอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) คือสารประเภท กลุ่มแลคโตน (lactones) เป็นสารสำคัญหลักในการออกฤทธิ์ที่พบในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata (Burm. F.) Wall. ex Nees) ซึ่งจัดเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพและมีความปลอดภัยสูงและได้บรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี2542 โดยส่วนใบและต้นนำมาใช้เป็นยารักษาโรค เช่น เจ็บคอ แก้ไข้ และท้องเสีย รวมทั้งนำไปใช้ผสมในอาหารสัตว์เพื่อใช้ป้องกันและรักษาโรคแทนยาปฏิชีวนะในไก่และสุกร คลื่นอุลตร้าโซนิค (ultrasound, sonication) เป็นคลื่นเสียง ที่มีความถี่อยู่ในช่วงที่หูมนุษย์ไม่สามารถได้ยิน และเมื่อคลื่นนี้ผ่านน้ำจะทำให้เกิดคลื่นน้ำและฟองอากาศเรียกว่า cavitation ซึ่งเป็นการเกิดคลื่นน้ำและฟองอากาศซ้ำแล้วซ้ำอีกในขนาดที่เล็กมาก ประมาณหนึ่งในหนึ่งล้านเมตร (ขนาดไมครอน) ทำให้ได้พลังงานจำนวนมาก จากพลังงานที่ได้นี้จึงนำไปใช้ประยุกต์ในการสกัดสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรที่อยู่ในสารละลายโดยใช้พลังงานที่ได้จากคลื่นเสียงความถี่สูง สำหรับการวิเคราะห์ แอนโดรกราโฟไลด์สามารถวิเคราะห์ได้โดยการสกัดตัวอย่างแล้ววิเคราะห์ปริมาณด้วย HPLC ในการสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ มีหลายวิธี เช่นการแช่ การแช่ร่วมกับการปั่นเหวี่ยงและการ reflux ซึ่งวิธีเหล่านี้อาจใช้เวลานานและไม่เหมาะสมกับเครื่องมือที่มีอยู่ ฝ่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลาง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้บริการวิเคราะห์สารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ในพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจรด้วยวิธีการสกัดตัวอย่างโดยการใช้คลื่นอัลตราโซนิคและวิเคราะห์ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ด้วย High Performance Liquid Chromatograph (HPLC) PDA-detector เพื่อตอบสนองความต้องการแก่จากหน่วยงานต่างๆที่ศึกษาวิจัยด้านสมุนไพรรวมทั้งผู้ผลิตและประกอบการ
ผู้สนใจขอรับบริการหรือคำแนะนำติดต่อที่โทร 02-942-8740 ต่อ 501-505 ในวันและเวลาราชการ

 

ศิริวัลย์ สร้อยกล่อม ,นันทนา ชื่นอื่ม ,พัชราภรณ์ ภู่ไพบูลย์ และ พินิจ ไพรสนธิ์
งานวิเคราะห์และสิ่งแวดล้อม ฝ่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลาง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.0-2942-8740 ต่อ 501-505