การผลิตมะม่วงภายใต้หลังคาพลาสติก เพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนส
Mango production under plastic roof for control anthracnose disease

           ปัญหาการเกิดโรคแอนแทรคโนสในระยะผลสุกของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่ผลิตนอกฤดูนั้นเกิดได้ง่าย เนื่องจากมะม่วงนอกฤดูมีการออกดอกและติดผลในช่วงฤดูฝน ความชื้นสัมพัทธ์อากาศสูง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดเข้าทำลายของเชื้อรา ดังนั้นการผลิตมะม่วงภายใต้หลังคาพลาสติกจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความชื้นสัมพัทธ์อากาศในทรงพุ่ม โดยสร้างโรงเรือนด้วยไม้ไผ่สำหรับคลุมหลังคาพลาสติก หลังคามีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว กว้าง 3 เมตร ยอดจั่วสูงจากพื้นดิน 3.5 เมตรคลุมหลังคาพลาสติกพีวีซีใสชนิดกันรังสียูวี 5 % ด้านข้างของโรงเรือนเปิดโล่ง (ภาพที่ 1) ทดลองกับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ อายุ 10 ปี สูงประมาณ 3 เมตร ที่ปลูกในแปลงแบบยกร่อง ในเขต อ.บางเลน จ.นครปฐม เปรียบเทียบการพัฒนาของผลจากต้นมะม่วงในสภาพธรรมชาติ และต้นมะม่วงที่คลุมหลังคา ทำการคลุมหลังคาพลาสติกหลังจากมะม่วงออกดอกประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันปัญหาการไม่ออกดอกภายใต้หลังคาพลาสติก และมีการเก็บบันทึกข้อมูลดังต่อไปนี้

  1. ก็บข้อมูลสภาพอากาศในทรงพุ่มของต้นมะม่วงที่อยู่ในสภาพธรรมชาติและภายใต้หลังคาพลาสติก ได้แก่ อุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์อากาศ และความเปียกผิวใบ
  2. เก็บข้อมูลเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคแอนแทรคโนสและการเกิดอาการผลลายจากการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟในระยะก่อนเก็บเกี่ยว
  3. เก็บข้อมูลเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคแอนแทรคโนสและระดับความรุนแรงของผลเน่าหลังในระยะหลังเก็บเกี่ยว

             ผลการทดลองพบว่าการผลิตมะม่วงภายใต้การคลุมหลังคาพลาสติกมีความชื้นสัมพัทธ์อากาศภายในทรงพุ่ม ในเวลากลางคืนต่ำกว่าต้นมะม่วงในสภาพธรรมชาติ 4.2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อุณหภูมิอากาศและความเปียกผิวใบภายในทรงพุ่มไม่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการลดปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดเข้าทำลายของเชื้อรา ส่งผลให้ลดการเกิดโรคแอนแทรคโนสได้อย่างเห็นได้ชัด คือ สามารถลดการเกิดโรคแอนแทรคโนสในระยะก่อนเก็บเกี่ยว (ผลดิบ) ได้ถึง 37% (ภาพที่ 2) ลดการเกิดโรคแอนแทรคโนสในระยะหลังเก็บเกี่ยว (ผลสุก) ได้ถึง 11% (ภาพที่ 4) และสามารถลดระดับความรุนแรงของผลเน่าในระยะหลังเก็บเกี่ยวได้ คือ ผลมะม่วงในสภาพคลุมหลังคาพลาสติกมีอาการของโรคปรากฏ 0-50 % ของพื้นที่ผิวผล ในขณะที่ผลมะม่วงในสภาพธรรมชาติมีอาการของโรคปรากฏ 26-100 % ของพื้นที่ผิวผล นอกจากนี้การคลุมหลังคาพลาสติกสามารถลดอาการผลลายจากการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟได้ถึง 100 % (ภาพที่ 3) ดังนั้นการผลิตมะม่วงภายใต้หลังคาพลาสติกจึงสามารถลดการเกิดโรคแอนแทรคโนส และเพิ่มคุณภาพของมะม่วงนอกฤดูได้อย่างพึงพอใจ



 

คณพล จุฑมณี และ ศิริลักษณ์ อ่อนน้อม
ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2562-5444, 0-2562-5555