ทีมวิจัยภาควิชาพฤกษศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ไม้ป่าโดยการเพาะ เลี้ยงเนื้อเยื่อ
ด้วยทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. ตั้งแต่ปี
2545-2547 พืชที่นำมาศึกษาเป็นพรรณไม้ป่าเต็งรังที่มีศักยภาพเป็นไม้ประดับ
คือ มีดอกสวยงามหรือมีกลิ่นหอม และมีประโยชน์ใช้สอยในด้านอื่น ๆ ด้วย
เช่น พลับพลึงไพร (Crinum sp.), ติ้วขน (Cratoxylum formosum
ssp. pruniflorum), แต้ว (C. cochinchinense), โมกหลวง
(Holarrhena antidysenterica), กล้วยอ้ายพอน (Uvaria
lurida Hook.f. & Thomson), กล้วยหมูสัง (U. glandiflora
Roxb. ex Hormem. var. glandiflora), คำมอกน้อย (Gardenia
obtusifolia Roxb.) และในปี 2548-2550 พืชที่ศึกษาได้แก่ พรรณไม้หายาก
เนื่องจากเป็นพืชประจำถิ่น เช่น กันภัยมหิดล (Afgekia mahidolae),
โมกราชินี (Wrightia sirikitiae) พืชถิ่นเดียว เช่น เทพธาโรหรือจวงหอม
(Cinnamomum porrectum) และกำยาน (Styrax benzoides)
และอื่น ๆ เช่น จำปีสิรินธร (Magnolia sirindhorniae), จำปีหลวง
(Michelia rajaniana), กวาวคำ (Butea monosperma
(Lam.) Taub.) เป็นต้น
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยพื้นฐาน
ที่ทำการทดลองเพื่อทดสอบ (1) ชนิดสูตรอาหารที่เหมาะสม โดยศึกษาเปรียบเทียบอาหาร
2 สูตร คือ สูตร Murashige and Skoog (1962) ที่ใช้เพาะเลี้ยงพืชทั่วไป
และ Woody Plant Medium ซึ่งมีรายงานว่าใช้ได้ดีกับไม้เนื้อแข็ง พบว่า
พืชบางชนิดตอบสนองต่อ WPM ได้ดีกว่า MS เช่น คำมอกน้อย โมกราชินี แต่บางชนิดตอบสนองต่อ
MS ได้ดีกว่า เช่น ติ้วขาว (2) ชนิดชิ้นส่วนพืช เช่น ใบเลี้ยง ข้อใบเลี้ยง
ข้อที่อยู่ต่ำจากปลายยอดในลำดับที่แตกต่างกัน หรือ ปลายยอด พบว่า ในการเพิ่มปริมาณยอดพืชบางชนิด
เช่น เทพธาโร อิทธิพลของปลายยอดต่อตาข้าง ส่งผลถึงการตอบสนองของตาข้างเหล่านั้นต่อสารควบคุมการเจริญเติบโตเมื่อนำมาเพาะ
เลี้ยง ข้อที่อยู่ห่างจากปลายยอดยิ่งมาก จะเพิ่มปริมาณยอดได้ดีกว่าข้อที่ใกล้ปลายยอด
และชิ้นส่วนข้อใบเลี้ยงเป็นชิ้นส่วนที่เพิ่มปริมาณยอดได้ดี (3) ผลของชนิดสารควบคุมการเจริญเติบโตและระดับความเข้มข้นในการเพิ่มปริมาณยอด
เช่น ไซโทไคนิน ชนิด BA (benzyladenine) หรือ TDZ (thidiazuron) เมื่อใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้ร่วมกัน
หรือใช้ร่วมกับออกซิน เช่น NAA (naphthaleneacetic acid) พบว่า BA
ใช้ได้ดีกับพืชทดลองส่วนใหญ่ ความเข้มข้นที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 5-10
ไมโครโมลาร์ (4) ผลของออกซินในการชักนำให้เกิดราก พืชทดลองส่วนใหญ่ตอบสนองต่อ
IBA ในการกระตุ้นให้เกิดราก บางชนิดเกิดรากได้เองในช่วงของการเพิ่มปริมาณยอด
เช่นติ้วขน ติ้วขาว เทพธาโร แต่บางชนิดยังมีปัญหาในเรื่องการกระตุ้นให้เกิดราก
ได้แก่ กล้วยอ้ายพอน กล้วยหมูสัง ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
ในการเพาะเลี้ยงไม้ป่าเหล่านี้
ปัญหาที่สำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการเพาะเลี้ยง นอกจากเรื่องการปนเปื้อน
ก็คือการร่วงของใบ ซึ่งสามารถแก้ไขอย่างได้ผลโดยการเติม AgNO3 ในอาหาร
และปัญหาชิ้นส่วนพืชเกิดสีดำและตาย ซึ่งอาจแก้ไขโดยการแช่ชิ้นส่วนใน
ascorbic acid ก่อนย้ายลงเลี้ยงบนอาหาร หรือปรับเปลี่ยนอุณหภูมิในสภาพแวดล้อมให้สูงขึ้น
เช่นที่ใช้แก้ปัญหาได้ดีในติ้วขน
ตัวอย่างการศึกษาในพรรณไม้ป่าบางชนิด
|