ความหลากหลายของเฟิร์นในระบบนิเวศป่าไม้ : อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
(Diversity of Ferns in Forest Ecosystem : Inthanon National Park, Chiengmai Province)



          

         
          อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติที่มีเนื้อที่ 482 ตารางกิโลเมตร และจัดอยู่ในกลุ่มป่าลุ่มน้ำปายและสาละวิน เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญและไหลไปบรรจบกับแม่น้ำปิง พื้นที่ดอยอินทนนท์มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 400 เมตร ขึ้นไปและจุดสูงสุดของยอดดอยอินทนนท์ ที่ 2,565 เมตร สังคมพืชบริเวณเชิงเขาเป็นป่าผลัดใบ สูงขึ้นไปเป็นป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา ที่ความสูงกว่า 1,800 เมตรมีหมอกปกคลุมทั่วไป จึงมีความชุ่มชื้นมากและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเฟิร์นและมอสส์ Tagawa และ Iwatsuki (1979-1989) ศึกษาอนุกรมวิธานเฟิร์นในประเทศไทย และพบเฟิร์นของดอยอินทนนท์ จำนวน 131 ชนิด มีชนิดเฟิร์นที่เป็นพืชถิ่นเดียว (endemic species) ของไทย 3 ชนิด คือ Cheilanthes delicatula Tagawa & K.Iwats., Polypodium garettii C.H.Wright และ Polystichum attenuatum Tagawa และ K.Iwats. และชนิดเฟิร์นที่ค่อนข้างเป็นพืชหายาก (rare species) 2 ชนิด คือ Colysis pentaphylla (Bak.) Ching (Fig ) , และ C. pothifolia (D.Don) Presl นอกจากนี้มีรายงานชนิดเฟิร์นที่เก็บตัวอย่างในพื้นที่ดอยอินทนนท์เพียงแห่งเดียวจำนวน 10 ชนิดเช่น Athyrium setiferum C.Chr., Bolbitis costata (Presl) Ching, Coniogramme procera Fee, Dennstaedtia scabra (Wqll.ex Hook.) J.Smith, Diplazium heterophlebium (Mett.ex Bak.) Diels, Dryopteris hendersonii (Bedd.) C.Chr. D. neochrysocoma Ching, Plagiogyria communis Ching, Polystichum tenggerense Rosenst และ Vittaria taeniophylla Copel. เป็นต้น

          ปัจจุบันความหลากหลายของเฟิร์นที่เคยรายงานนั้นยังคงอยู่ดอยอินทนนท์ หรือมีการสูญหายลดจำนวนชนิดลง จึงต้องทำการตรวจสอบความหลากชนิดของเฟิร์นในดอยอินทนนท์โดยเฉพาะชนิดเฟิร์นที่เป็นพืชถิ่นเดียวและพืชหายาก เพื่อเป็นข้อมูลขั้นพื้นฐานของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของเฟิร์นในระบบนิเวศภูเขาของประเทศไทย การศึกษานี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างเฟิร์นตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระหว่างเดือน กันยายน 2548 ถึงเดือน กรกฏาคม 2549 ในพื้นที่ดอยอินทนนท์ ระดับความสูงต่างๆดังนี้ เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยอ่างกา 2,380 msl. กิ่วแม่ปาน 2,100 msl. เส้นทาง jeep track 1,600-1,650 msl. น้ำตกสีริภูมิ 1,310 msl. เส้นทางเดินธรรมชาติพันชุลีและดอยผาตั้ง 1,600 msl. ผาดอกเสี้ยว 1,270 msl. น้ำตกแม่ปาน 980 msl. น้ำตกแม่ยะ 570 msl และ น้ำตกแม่กลาง 420 msl. บันทึกค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ ชนิดสังคมพืชที่พบ ลักษณะของเฟิร์นและถ่ายภาพเฟิร์นในธรรมชาติ บันทึกข้อมูลสัณฐานวิทยาของเฟิร์น และระบุชนิดเฟิร์นจากเอกสารการจำแนกเฟิร์น ผลการศึกษาพบว่าป่าอินทนนท์มีเฟิร์นจำนวน 104 ชนิด จำแนกได้ 45 สกุล และ 21วงศ์ สภาพเฟิร์นตามสภาพธรรมชาติ พบเป็นเฟิร์นขึ้นบนดิน 72 ชนิด เฟิร์นอิงอาศัย 23 ชนิด และเฟิร์นเกาะหิน 9 ชนิด กระจายตามความสูงของพื้นที่ดังนี้ ที่ความสูงมากกว่า 1,600 msl. พบเฟิร์นมากที่สุด 58 ชนิด รองลงมาที่ความสูงน้อยกว่า 1,000 msl. 35 ชนิด และระหว่าง 1,000- 1,600 msl. พบชนิดเฟิร์นน้อยที่สุด 26 ชนิด วงศ์ที่พบเฟิร์นมากที่สุด คือ Polypodiaceae 9 สกุล 20 ชนิด รองลงมา คือ Thelypteridaceae 1 สกุล 14 ชนิด Dryopteridaceae 6 สกุล 11 ชนิด ส่วนวงศ์ที่พบน้อยกว่า 5 ชนิด ได้แก่ Blechnaceae, Cyatheaceae, Davalliaceae และ Gleicheniaceae

           ผลการศึกษาพบว่าชนิดเฟิร์นที่เป็นพืชถิ่นเดียว 1 ชนิดคือ Polystichum attenuatum Tagawa และ K.Iwats. (Fig 1) ยังคงอยู่กับพื้นที่เช่นเดียวกับเฟิร์นที่ค่อนข้างหายากอีก 2 ชนิด ส่วนชนิดเฟิร์นที่พบเฉพาะที่อินทนนท์แห่งเดียวและยังคงอยู่ได้แก่ Plagiogyria communis Ching (Fig 2) , Coniogramme procera Fee, Pteris nepalensis , Polystichum tenggerense Rosenst นอกจากนี้ยังมีชนิดเฟิร์นที่รายงานเพิ่มเติมของอินทนนท์ 28 ชนิด เช่น Asplenium interjectum Christ , A. normale D.Don, Dicranopteris splendida (Hand.-Mazz) Tagawa Dimoglossum exiguum หรือพบเฉพาะที่กิ่วแม่ปานเช่น Neocheiropteris normalis (D.Don) Tagawa (Fig 4) เป็นต้น


สุมน มาสุธน
ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กทม.10900
โทร 02 9405444ม 029405555 ต่อ 1327