ความหลากหลายของเฟิร์นในระบบนิเวศภูเขา : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย
(Diversity of Ferns in Mountain Ecosystem : Phuluang Wildlife Reserve)

          

           การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยในปัจจุบัน แบ่งพื้นที่ป่าธรรมชาติ เป็นกลุ่มป่าใหญ่ๆ 19 กลุ่ม โดยเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่มีเนื้อที่ทั้งหมด 848 ตารางกิโลเมตร จัดอยู่ในกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาวที่ครอบคลุมทิวเขาเพชรบูรณ์ และดงพญาเย็น พื้นที่ภูหลวง มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป จุดที่สูงที่สุด คือ ที่ราบโคกนกกระบา สูง 1,500 เมตร สังคมพืชที่พบเด่นชัด คือ ป่าดิบเขาและป่าสนเขา พื้นที่ป่าภูหลวง มีต้นน้ำลำธารหล่อเลี้ยงให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ จึงมีสภาพเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเฟิร์นในธรรมชาติ เป็นอย่างยิ่ง Tagawa และ Iwatsuki (1979-1989) ศึกษาอนุกรมวิธานเฟิร์นในประเทศไทย และพบเฟิร์นของป่าภูหลวงจำนวน 138 ชนิด มีชนิดเฟิร์นที่เป็นพืชถิ่นเดียว (endemic species) 4 ชนิด คือ Arthromeris phuluangensis Tagawa & K. Iwats., Polystichum attenuatum Tagawa, Pteris phuluangensis Tagawa & K. Iwats. (Fig 1) และ Thelypteris siamensis Tagawa & K. Iwats และพบชนิดเฟิร์นที่ค่อนข้างเป็นพืชหายาก (rare species) 3 ชนิด คือ Colysis pentaphylla (Bak.) Ching (Fig ) , C. pothifolia (D.Don) Presl และ Scleroglossum minus (Fee) C.Chr.
          
          ปัจจุบันความหลากหลายของเฟิร์นที่รายงานนั้น ยังคงอยู่ในพื้นที่ป่าภูหลวงหรือมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนชนิดที่ลดลง เพื่อเป็นการตรวจสอบความหลากชนิดของเฟิร์นในป่าภูหลวง โดยเฉพาะชนิดเฟิร์นที่เป็นพืชถิ่นเดียวและพืชหายาก และนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติระบบนิเวศภูเขาของประเทศไทย การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างเฟิร์นภูหลวง ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระหว่างเดือน กันยายน 2548 ถึงเดือน กรกฏาคม 2549 ในพื้นที่ตัวแทนของป่าภูหลวง ได้แก่ โคกนกกระบา ความสูง 1,350-1,500 msl. ผาตะเหลิ่นและผาสมเด็จ ความสูง 1,440-1,450 msl. ร่องซุงใหญ่ ความสูง 1,030 msl. และวังกอเหี๊ยะ ความสูง 850 msl. บันทึกค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ ลักษณะของเฟิร์นและภาพถ่ายในพื้นที่ ศึกษาข้อมูลสัณฐานวิทยาของเฟิร์น และระบุชนิดเฟิร์นจากเอกสารการจำแนกเฟิร์น ผลการศึกษาพบเฟิร์นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงจำนวน 115 ชนิด จำแนกได้ 51 สกุล และ 24 วงศ์ จำแนกเฟิร์นตามสภาพธรรมชาติ พบเฟิร์นขึ้นบนดิน 70 ชนิด เฟิร์นอิงอาศัย 27 ชนิด และเฟิร์นเกาะหิน 18 ชนิด เฟิร์นที่พบมากที่สุดคือวงศ์ Polypodiaceae 11 สกุล 21 ชนิด รองลงมา คือ Dryopteridaceae 4 สกุล 10 ชนิด Pteridaceae และ Thelypteridaceae วงศ์ละ 1 สกุล 9 ชนิด Lomariopsidaceae 2 สกุล 8 ชนิด Aspleniaceae 1 สกุล 8 ชนิด Dennstaedtiaceae 3 สกุล 7 ชนิด และ Lindsaeaceae 2 สกุล 6 ชนิด ตามลำดับ ส่วนวงศ์ที่พบเฟิร์นน้อยที่สุดมีเพียง 1 ชนิดได้แก่ Cyatheaceae, Dicksoniaceae, Osmundaceae (Fig 3) , Ophioglossaceae และ Plagiogyriaceae (Fig 4) ชนิดเฟิร์นที่เป็นพืชถิ่นเดียวยังคงพบในการวิจัยครั้งนี้ 2 ชนิดคือ Pteris phuluangensis Tagawa & K. Iwats. (Fig 1) และ Thelypteris siamensis Tagawa & K. Iwats. และพบชนิดเฟิร์นที่ค่อนข้างหายากครบทั้ง 3 ชนิด แต่ยังไม่พบชนิดเฟิร์นที่เคยมีรายงานเก็บตัวอย่างได้เพียง 1 ครั้ง ดังนั้นอาจเป็นชนิดเฟิร์นที่สูญเสียออกไปจากพื้นที่ของภูหลวงแล้วเช่น Asplenium delavayi (Franch.) Copel. , Arachniodes hasseltii (Blume) Ching และ Thelypteris evoluta (Clarke) Tagawa & K.Iwats. เป็นต้น การศึกษาครั้งนี้มีชนิดเฟิร์นของป่าภูหลวงเพิ่มเติมจากที่รายงานพบอย่างน้อย 19 ชนิดเช่น Asplenium falcatumLamk., A. macrophyllum Sw. (Fig 7) , A. tenerumForst. , Bolbitis heteroclita (Presl) Ching, Diplazium silvaticum (Bory) Sw., Gleichenia blotiana C.Chr. (Fig 5) ,Lygodium giganteum Tagawa & K.Iwats. Microsorium membranaceum (D.Don) Ching, Oleandra wallichii (Hook.) Presl , Ophioglossum petiolatumHook. และ Pteris wallichii Ag. เป็นต้น

          


สุมน มาสุธน
ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กทม.10900