ประโยชน์และโทษของราต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช
Beneficial and harmful fungi to human, animal and plant

          การแยกราจากดิน พืช มูลสัตว์ และวัสดุต่างๆ โดยวิธี soil plate, dilution plate ใช้แอกอฮอล์ 65% 10-20 นาที และความร้อน 80oC ครึ่งชั่วโมง นำดินใส่บนอาหารวุ้น glucose ammonium nitrate agar (1 g NH4NO3, 1 g K2HPO4, 0.5 g MgSO4.7H2O, 0.03 g rose Bengal, 1 g yeast extract, 5 g glucose, 15 g agar, 1 L distilled water) และปฏิชีวนะสาร streptomycin บ่มไว้ในที่มืด 3-7 วัน แยกราใส่ใน slant PDA สำหรับตัวอย่างพืช ใช้วิธีให้ความชื้นกับใบพืชในจานเลี้ยงเชื้อ หรือใช้วิธี tissue transplanting พบราจำนวน 4,000 สายพันธุ์ จำแนกได้ 90 สกุล (genera) 150 ชนิด (species) ราที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ในการสร้างสารปฏิชีวนะสาร ได้แก่รา Myrothecium verrucaria จากดินป่าจังหวัดกาญจนบุรี พบว่าราสร้างสาร trichothecene ซึ่งมีผลยับยั้งการเจริญของเชื้อมาลาเรีย รา Talaromyces bacillisporus สร้างสาร bacillisporins D, E และ Talaromyces trachyspermus สร้างสาร trachyspic acid ซึ่งมีผลยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง Colletotrichum gloeosporioides สร้างสาร collitotric acid ยับยั้งราสาเหตุโรคพืช Helminthosporium sartivum และรา Phomopsis sp. สร้างสาร phomopsicharasin ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย Bacillus subtilis Stephylococcus aureus และ Salmonella gallinarum

          พบรา Pestalotiopsis mangiferae ซึ่งมีรายงานว่าราชนิดนี้สร้างสาร taxol ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ส่วนราที่มีประโยชน์ทางการเกษตรได้แก่ Talaromyces flavus ซึ่งประสิทธิภาพยับยั้งการเจริญของรา Sclerotium rolfsii สาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าของถั่ว และควบคุมการเจริญของรา Rhizoctonia stolonifer ที่เจริญบนต้นกล้าข้าวบาร์เลย์ รา Sordaria fimicola จากมูลสัตว์สามารถยับยั้งการเจริญของราสาเหตุโรคพืชหลายชนิดในห้องปฏิบัติการ เช่น Pestalotiopsis guepinii, Colletotrichum capsici, Curvularia lunata, Alternaria alternata และ Fusarium oxysporum เป็นต้น ส่วนราเอนโดไฟท์ (endophyte) จากใบพืชได้แก่ Pestalotiopsis guepinii รวมทั้งราเอนโดไฟท์ที่เจริญช้าและไม่สร้างสปอร์มีประสิทธิภาพยับยั้งการเจริญของราสาเหตุโรคพืชห้องปฏิบัติการ เช่น Bipolaris maydis, Lasiodiplodia theobromae และ Sclerotium rolfsii เป็นต้น

          บทบาทสำคัญของราทางการเกษตรได้แก่ การย่อยสลายเศษพืชและอินทรียวัตถุต่างๆ ให้เป็นดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ราที่มีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายซากพืช ได้แก่ Helicosporium, Volutella, Wiesneriomyces และ Zygosporium ราที่มีรายงานว่าสร้างเอนไซม์เซลลูเลสช่วยในการย่อยสลายเศษพืช ได้แก่ Chaetomium cupreum, Chaetomium globosum, Gilmaniella humicola, Memmaria echinobotryoides, Paecilomyces lilacinus, Paecilomyces variotii, Scytalidium lignicola, Trichoderma harmatum และ T. harzianum เป็นต้น ราดังกล่าวเป็นราที่พบอยู่ทั่วไปในดิน สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงดินและช่วยการเจริญเติบโตของพืช

          ในทางตรงกันข้าม ราหลายชนิดมีบทบาทสำคัญก่อให้เกิดโรคกับมนุษย์ สัตว์ และพืช และทำลายเครื่องใช้ จากผลงานวิจัยนี้พบราที่ปนเปื้อนในอาหารได้แก่ Aspergillus flavus ในผลส้มโอ A. fumigatus และ A. niger บนขนมปัง A. ocharceus บนเมล็ดถั่ว Eurotium chevalieri และ Eurotium amstelodami บนขนมปัง ขนมชั้นและข้าวสุก ราที่เจริญบนกระดาษได้แก่ Chaetomium globosum, Cladosporium cladosporiodes, Memnoniella echinata และ Stachybotrys atra และราที่สร้างสปอร์จำนวนมากปนเปื้อนในอากาศได้แก่ Aspergillus fumigatus ราดังกล่าวจะสร้างสารพิษที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ที่บริโภคอาหารที่มีราปนเปื้อน ตัวอย่างสารพิษจากเชื้อรา (mycotoxin) ได้แก่ aflatoxin, ochratoxin, patulin, fumonisin B1, trichothecenes, T-2 toxin, deoxynivalenal (DON), zearalenone, satratoxins, verrucarins และ roridins

          นอกจากนี้ยังพบราที่มีความสำคัญต่อสุขภาพได้แก่ Pseudoallescheria boydii ทำให้เกิดโรค กับคนที่เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์และจมน้ำ ราจะเข้าสู่ระบบหายใจทำให้หู ตา อักเสบ และเกิดโรคกับระบบประสาท ราAspergillus fumigatus สาเหตุโรค aspergillosis ที่ปอดของคนและนกรวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ราที่สร้างสารพิษก่อให้เกิดโรคผิวหนังและเกิดเป็นพิษในท่อน้ำดีในแกะได้แก่ Pithomyces chartarum และ Stachybotrys chartarum ทำให้เกิดอาการตกเลือดในม้า

          ราสาเหตุโรคพืชที่สำคัญได้แก่ Alternaria alternata บนผลสาลี่ Choanephora cucurbitarum ผลแตงกวา Colletotrichum capsici ผลพริกชี้ฟ้า Colletotrichum gloeosporioides ผลกล้วยและมะม่วง Curvularia lunata และ Phyllosticta sp.ใบกล้วยไม้ Cylindrocladium gracile บนกลีบกุหลาบ Fusarium graminearum และ Phomopsis sp. บนฝักมะขาม F. oxysporum จากดอกเยอบีรา F. semitectum ผลแตงโม F. solani และ Pestalotiopsis guepinii ผลชมพู่ Lasiodiplodia theobromae ผลฝรั่ง Pythium aphanidermatum จากรากแตงกวา Sclerotium rolfsii จากหัวเผือก Thielaviopsis basicola และ T. thielavioides จากหัวแครอท เป็นต้น

 

 

เลขา มาโนช
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทรศัพท์ 0-2579-1026