การศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมที่สำคัญของฝรั่งเพื่อการปรับปรุงพันธุ์
Study of important genetic characters in Guava (Psidium guajava L.)
for cultivar improvement

           ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดย รศ.ดร. อุณารุจ บุญประกอบ ได้เริ่มต้นโครงการปรับปรุงพันธุ์ฝรั่งอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) การเรียน การสอน และสร้างนักวิจัยสายงานปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลที่มีประสบการณ์จริง โดยใช้ฝรั่งเป็นพืชต้นแบบ 2) เพื่อทราบการแสดงออกทางพันธุกรรมของลักษณะที่สำคัญเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพันธุ์ฝรั่งในอนาคตอย่างต่อเนื่อง 3) เพื่อให้ได้พันธุ์ฝรั่งพันธุ์ใหม่จำนวนหลากหลายพันธุ์ ทั้งที่มีลักษณะดีเพื่อรับประทานผลสด แปรรูป ใช้ในงานพืชสวนประดับ และมีความต้านทานต่อโรคและแมลง และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม 4) เพื่อเผยแพร่งานวิจัยสู่เกษตรกร เช่น การแสดงนิทรรศการ การส่งเสริมฝรั่งพันธุ์ใหม่ และวงวิชาการ เช่น การประชุมวิชาการ และการตีพิมพ์บทความวิชาการ

           ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ทราบผลการแสดงออกทางพันธุกรรมของลักษณะที่สำคัญต่าง ๆ เช่น คุณภาพผล การต้านทานโรค การทนทานดินเค็ม มีการเผยแพร่ผลงานในรูปแบบต่าง ๆ รวมมากกว่า 20 บทความ รวบรวมเชื้อพันธุกรรมฝรั่งจำนวนมากกว่า 90 พันธุ์ โดยแบ่งเป็น 1) กลุ่มสำหรับรับประทานสดเนื้อผลสีขาว จำนวน 35 พันธุ์ เนื้อผลสีชมพู จำนวน 9 พันธุ์ เนื้อผลสีแดงม่วง จำนวน 4 พันธุ์ 2) กลุ่มแปรรูป จำนวน 25 พันธุ์ 3) กลุ่มพื้นเมือง จำนวน 20 พันธุ์ และ 4) กลุ่มประดับจำนวน 4 พันธุ์ โดยมีทั้งพันธุ์ที่รวบรวมได้จากทั้งในและต่างประเทศ สร้างประชากรลูกผสมรวมจำนวนมากกว่า 30,000 ต้น สามารถคัดเลือกลูกผสมขั้นสูงได้มากกว่า 80 รหัส ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกในเชิงพาณิชย์

           ปัจจุบันสามารถคัดเลือกพันธุ์ประทานสด จำนวน 1 รหัส ที่มีคุณภาพผล รสชาติหวานกรอบ เนื้อละเอียด มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และทนทานต่อโรคแอนแทรคโนส และพันธุ์ต้นตอที่ทนทานดินเค็ม จำนวน 2 รหัส ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบการผลิตเชิงพาณิชย์ในแปลงผลิตของบริษัทเอกชน

     


 

อุณารุจ บุญประกอบ เกรียงศักดิ์ ไทยพงษ์
ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน
,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 034-281-084